ผัก
เมนูลูกรัก
ผักมีส่วนสำคัญที่ช่วยในพัฒนาการและการเจริญเติบโตของลูก เนื่องจากผักอุดมไปด้วยไฟเบอร์, โฟเลต, วิตามินเอ, วิตามินดี, โพแทสเซียม และแมกนีเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารจำเป็นในการเสริมสร้างสุขภาพที่ดี
ผักที่ดีสำหรับเด็ก ๆ
ผักมีวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิด ดังนั้นยิ่งลูกน้อยทานผักหลากหลายมากเท่าไรก็ยิ่งดี ตัวอย่างของผักที่ดีได้แก่:
- กะหล่ำ
- แครอท
- เซเลอรี่
- หน่อไม้ฝรั่ง
- บร็อคโคลี
- ผักโขม
- แรดิช
- ผักตระกูลซัมเมอร์สควอช เช่น ซูคินี
- กะหล่ำดอก
- มันหวาน
- หัวผักกาด
- เคล
- ผักตระกูลวินเทอร์สควอช เช่น ฟักทอง และฟักทองบัตเตอร์นัท
- ผักกาด
- หัวหอม
- มันฝรั่ง
- ข้าวโพดอ่อน
- ซูคินี
- ถั่วแขก
- ฟักเขียว
- น้ำเต้า
- ผักกวางตุ้ง
- ผักบุ้ง
- กระเจี๊ยบเขียว
- โหระพา
- กุยช่าย
เพื่อป้องกันการติดคอ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าหั่นผักเป็นชิ้นเล็ก และปรุงให้สุกก่อนให้ลูกรับประทาน เด็กเล็กไม่ควรทานผักดิบ
ปริมาณผักที่เหมาะสมกับช่วงอายุ
แนะนำให้เด็ก ๆ ทานผักในปริมาณที่เหมาะสมทุกวันตามช่วงอายุดังนี้
- อายุ 1 – 3 ปี: 1 – 1.5 ถ้วยต่อวัน
- อายุ 4 – 8 ปี: 1.5 – 2.5 ถ้วยต่อวัน
- อายุ 9 – 13 ปี: 1.5 – 3 ถ้วยต่อวัน
ประโยชน์ของผักต่อสุขภาพ
- ช่วยในการทำงานของสมอง: ผัก เช่น เคลและบร็อคโคลีช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากมีสารอาหารที่สำคัญ เช่น วิตามินเค, โฟเลท,ลูทีน, และเบต้าแคโรทีน
- ป้องกันโรค: การทานผักเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาทางสุขภาพต่าง ๆ เช่น มะเร็งบางชนิด และโรคหัวใจ
- ระบบย่อยอาหารที่ดี: ผักมีเส้นใยอาหารเช่นเพคติน และอินูลิน ซึ่งสำคัญต่อสุขภาพของระบบย่อยอาหาร เส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์ที่มีอยู่ในผักจะช่วยให้อาหารมีมวล และเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ดี สองคุณสมบัตินี้จึงช่วยป้องกันอาการท้องผูกและช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้นได้ ระบบการย่อยที่ดีจะช่วยให้สารอาหารถูกดูดซึมได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโต
- พลังงาน: ผักบางชนิดมีน้ำตาลตามธรรมชาติซึ่งเป็นน้ำตาลที่ดีกว่าน้ำตาลจากแหล่งอื่น ๆ เช่น ลูกกวาดที่มีน้ำตาลสูง
- สุขภาพกระดูกที่ดี: นอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณโพแทสเซียมในร่างกายแล้ว การทานผักจะช่วยให้ร่างกายได้วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระที่จำเป็นต่อการเสริมสร้างกระดูกที่แข็งแรง
- เสริมภูมิคุ้มกัน: ผักให้สารอาหารจำเป็นที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น วิตามินและแร่ธาตุ ซึ่งช่วยต่อสู้กับภาวะไม่สมดุลของการเกิดอนุมูลอิสระ และช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน
เทคนิคในการช่วยให้เด็ก ๆ ทานผัก
- ให้เริ่มทานผักปริมาณน้อย ๆ และค่อยเป็นค่อยไป เด็ก ๆ อาจปฏิเสธที่จะทานผักในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็จะเริ่มเปิดรับผักมากขึ้น ลองตัดผักเป็นรูปร่างต่าง ๆ ให้ดูน่าสนใจ หรือตัดเป็นชิ้นให้ดูน่าหยิบรับประทาน
- ไม่ควรให้ลูกน้อยทานผักชนิดเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน เด็กบางคนไม่ชอบทานเคล แต่ชอบแครอทต้มนิ่ม ๆ มากกว่า
- ไม่ควรบังคับลูกให้ทานผัก หากบังคับให้ลูกทานเขาจะยิ่งต่อต้าน และทำให้ลูกยิ่งไม่สนใจจะทานผักนั้นอีกต่อไป
- ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการตกแต่งผัก เช่น ลองให้ลูกทานผักโรยชีส
- ให้ลูกมีโอกาสได้เลือกชนิดของผักที่เขาอยากทาน เมื่อลูกอายุมากขึ้น อาจให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกซื้อผักได้
- เป็นตัวอย่างที่ดี ทานผักให้หลากหลายเมื่อทานอาหารร่วมกัน ไม่ควรปฏิเสธการทานผักทุกชนิดเมื่ออยู่ต่อหน้าลูก
หากมีพื้นที่ อาจปลูกผักร่วมกับลูก จะช่วยให้เขามีความสนใจผักมากขึ้นได้
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (15 กรกฎาคม 2021)