ต้องทำอย่างไรเมื่อมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
สุขภาพจิต
ผู้หญิงส่วนใหญ่สามารถหายขาดจากโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้โดยการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญและการสนับสนุนจากคนรอบข้าง แต่ทั้งหมดนี้อาจต้องใช้เวลา
ทำไมจึงต้องรักษา
สุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ หากคุณแม่มีอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล ก็อาจทำให้ไม่สามารถดูแลตัวเองหรือลูกได้
นั่นหมายความว่าหากคุณแม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด หรือสงสัยว่าเป็นโรคนี้อยู่ ควรปรึกษาคนที่ไว้ใจ หากลุ่มสนับสนุนกับคุณแม่คนอื่น ๆ และขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญทันที
การวินิจฉัยโรคซึมเศร้าหลังคลอด
หากคุณมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แพทย์จะประเมินอาการของคุณตลอดการตั้งครรภ์ หลังการคลอดคุณและผู้คนรอบข้างควรสังเกตหาอาการที่บ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้า หากสงสัยว่ามีอาการควรแจ้งให้แพทย์ทราบและแนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางต่อไป
แพทย์จะทำการประเมินเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ด้วยแบบประเมินดังนี้:
แบบสอบถามเรื่องภาวะซึมเศร้าหลังคลอด EPDS (Edinburgh Postnatal Depression Scale): เป็นข้อคำถามสั้น ๆ จำนวน 10 ข้อ โดยคุณจะต้องตอบว่ามีอาการเหล่านี้บ่อยแค่ไหนในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น “ฉันรู้สึกประหม่าหรือวิตกกังวลโดยไม่มีเหตุผล” หรือ “มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองเกิดขึ้น”
แบบสอบถามภาวะซึมเศร้า PHQ-2 (2-Question Patient Health Questionnaire): เป็นคำถามสั้น ๆ 2 คำถามสำหรับผู้หญิงที่อาจเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด คำถามหนึ่งถามว่า “ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณรู้สึกหมดความสนใจหรือไม่เพลิดเพลินในการทำสิ่งต่าง ๆ บ่อยแค่ไหน หรือรู้สึกซึมเศร้าและท้อแท้บ้างหรือไม่?” หากคำตอบของคุณคือ “เป็นเกือบทุกวัน” คุณอาจเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด
แบบสอบถามภาวะซึมเศร้า PHQ-9 (9-Question Patient Health Questionnaire): แบบสอบถามนี้มักใช้ถามต่อจาก PHQ-2 หากคุณมีอาการซึมเศร้า โดยแพทย์จะถามเกี่ยวกับอาการที่เป็น เช่น การนอน การกิน ปัญหาในการตั้งสมาธิเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ และความรู้สึกหมดเรี่ยวแรง ยิ่งมีอาการเหล่านี้บ่อยเท่าไร ก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นเท่านั้น
โดยปกติแล้วจะไม่มีการตรวจเลือดเพื่อประเมินหาโรคซึมเศร้า แต่แพทย์อาจให้ตรวจเลือดเพื่อตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ เช่นภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (hypothyroidism) เพราะอาจทำให้เกิดอาการคล้ายโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้
วิธีรักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอด
ในการรักษาจะมีวิธีหลัก ๆ อยู่ 3 ประเภทดังนี้:
การดูแลตนเอง: ใช้วิธีพูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่คนอื่น ๆ ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันหรือเคยเป็นโรคนี้มาก่อน
การรักษาทางจิตบำบัด (Psychotherapy): เป็นการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลังคลอดโดยเฉพาะ โดยจะใช้เทคนิคการปรับความคิดและปรับพฤติกรรม (cognitive behavioral therapy – CBT) โดยนักจิตบำบัดจะช่วยคุณสังเกตความคิด ปรับรูปแบบการคิด และปรับพฤติกรรมที่อาจทำร้ายตนเอง หรือไม่ดีต่อสุขภาพจิตออกไป
การใช้ยา: หากมีอาการรุนแรงหรือใช้วิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาต้านเศร้า หากคุณแม่ยังให้นมลูกอยู่ แพทย์จะให้ยาที่ปลอดภัยสำหรับการให้นมลูก
การรักษาโรคซึมเศร้าในช่วงที่ให้นมลูก
หากอาการของคุณต้องใช้ยาต้านเศร้า แพทย์จะรู้ว่าต้องจัดการอย่างไร ยาต้านซึมเศร้าบางชนิดจะไม่ส่งผ่านน้ำนมไปยังลูก ดังนั้นจึงปลอดภัย แพทย์จะเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้คุณ
ไม่ว่าคุณแม่จะให้นมลูกเองหรือไม่ หากมีอาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด หรือมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงซึ่งทำให้ชีวิตหยุดชะงักหรือไม่สามารถดูแลลูกได้ ให้ขอความช่วยเหลือทันที บอกคู่ครอง หรือครอบครัว พยายามหากลุ่มสนับสนุนของคุณแม่ และขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้วคุณจะสามารถป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงและกลับมาเป็นปกติได้
ขอขอบคุณ
บทความเกี่ยวกับสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดนี้ถูกจัดทำขึ้นจากการร่วมมือและการสนับสนุนจาก Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อย
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (1 สิงหาคม 2022)
ที่มา:
- Understanding Postpartum Depression -- Diagnosis and Treatment, WebMD
- Treating Depression While Breastfeeding, WebMD
- Treatment - Postnatal depression, NHS
- Postpartum Depression & Breastfeeding, Healthychildren.org
- Treatment of postpartum depression: clinical, psychological and pharmacological options, National Library of Medicine