วิธีเพิ่มน้ำนมแม่ ทำได้อย่างไร?
เกร็ดความรู้
บทสัมภาษณ์จากคุณนุ่น รัตนาวดี ยิ่งเสมอ นักกายภาพบำบัด ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องเต้านมของคุณแม่หลังคลอด
คุณแม่อาจประสบปัญหาเรื่องน้ำนมน้อย ปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน ปัญหาที่ลูกเข้าเต้าไม่ได้ หรือปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณแม่หลังคลอด แต่ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไข้เบื้องต้นได้ด้วยการปฏิบัติตัว และการมีวินัยในการปั๊มนมของคุณแม่
ปัญหาของคุณแม่ให้นม
ปัญหาหลัก ๆ ที่คุณนุ่นพบจากการทำงานมา แบ่งออกได้เป็น 2 ปัญหา คือปัญหาน้ำนมน้อย และปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน
ปัญหาน้ำนมน้อย: มักพบมากในช่วงแรกคลอด โดยมีผลมาจากกระเปาะน้ำนมหรือฮอร์โมนต่าง ๆ ทำให้คุณแม่ยังผลิตน้ำนมได้น้อยอยู่ อาจด้วยความต้องการของทารกในช่วงแรก ๆ จะยังต้องการน้ำนมน้อยแต่ต้องการบ่อย เพราะฉะนั้นเต้านมของคุณแม่หรือน้ำนมของคุณแม่จะผลิตตามความต้องการของลูก คือผลิตค่อนข้างบ่อย แต่ในปริมาณที่น้อย
ปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน: อาการที่แสดงชัดเจนของปัญหาท่อน้ำนมอุดตันคือหากคุณแม่คลำที่เต้าจะเจอก้อนไตแข็งได้อย่างชัดเจน บางคนอาจจะเจอปัญหา ปวด บวม แดง ร้อน ที่เต้านมด้วย และคุณแม่อาจรู้สึกว่ามีไข้ร่วมด้วย ไข้อาจไม่ได้สูงมาก มีไข้ต่ำ ๆ และจะรู้สึกว่าน้ำนมเริ่มหดไป ซึ่งท่อน้ำนมจะมีอยู่ 2 ขนาดเท่านั้น คือ ท่อเล็ก และ ท่อใหญ่
โดยปัญหาท่อน้ำนมอุดตันของท่อเล็ก คุณแม่จะรู้สึกว่าเต้าจะมีก้อนไตแข็งขึ้นมาชัดเจนภายใน 1 วัน หรือ 1 คืน มีชื่อเรียกสั้น ๆ ว่า ไวท์ดอท ด้วยอาการที่แสดงชัดเจน คือจะมีจุดขาวที่บริเวณหัวนม ถ้าหากคุณแม่มีไวท์ดอท เมื่อบีบน้ำนมจะไม่มีน้ำนมซึมออกมาจากจุดขาวนั้น และเต้าคุณแม่จะแข็งชัดเจน ปัญหานี้สามารถแก้ได้ค่อนข้างง่าย ให้คุณแม่พยายามเช็ดหัวนมและให้ลูกเข้าเต้าดูดสักพักก็จะเริ่มดีขึ้น
ส่วนปัญหาท่อน้ำนมใหญ่อุดตัน คือท่อน้ำนมจะค่อย ๆ ตีบลงเรื่อย ๆ มันจะเหมือนนมที่เราฟรีซไว้ในตู้เย็น คือตรงกลางส่วนที่เหมือนตันในช่วงแรกจะรู้สึกว่าแข็งสุด รอบนอกจะไม่ค่อยแข็ง ลักษณะนี้ในทางกายภาพบำบัด จะใช้วิธีนวดหรือแค่ระบายท่อ ซึ่งจะไม่สามารถระบายหมดได้ภายในครั้งเดียว
อาจต้องใช้ตัวช่วยคือเครื่องอัลตราซาวด์ ซึ่งเป็นคลื่นความร้อน ส่งความร้อนลงลึกเข้าไปในระดับเซลล์ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด และช่วยเพิ่มการไหลเวียนของน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลง่ายขึ้นกว่าเดิม
ระยะเวลารักษา
ระยะเวลาในการรักษาจะอยู่ที่ประมาณ 1 ชม. – 1.30 ชม. ขึ้นอยู่กับอาการของคุณแม่ว่าเป็นมากน้อยแค่ไหน หรือว่าเป็นหนักเพียงใด
คุณแม่มักพบปัญหาในช่วงใด
ปกติคุณแม่จะเริ่มเรียกใช้บริการตั้งแต่เมื่อน้ำนมเริ่มซึมหลังคลอดไปจนถึงช่วงที่จะเลิกให้นม กรณีที่เร็วที่สุดที่เคยไปให้บริการก็คือ 2 วันหลังคลอด ไปจนถึงเมื่อทารกอายุได้ 1 – 2 ปี เพราะด้วยปัญหาของเต้านมหรือน้ำนมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับวินัยของคุณแม่ การปฎิบัติตัวของคุณแม่ในการให้นม หรือการเคลียร์เต้าประกอบด้วย
วินัย 4 ข้อ ของคุณแม่
วินัย 4 ข้อนี้เป็นข้อปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณนุ่นที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพน้ำนมของคุณแม่ และลดปัญหาเต้านมลง
- การดื่มน้ำ: น้ำนมของคุณแม่นั้นผลิตมาจากเลือดร่วมกับน้ำ เพราะฉะนั้นการที่คุณแม่ผลิตน้ำนม 1 ครั้ง เท่ากับร่างกายเสียเลือดและน้ำไปทุก ๆ ครั้ง ในขณะที่ร่างกายสามารถสร้างเลือดเองได้ แต่ไม่สามารถสร้างน้ำได้ คุณแม่จึงต้องหมั่นเติมน้ำกลับเข้าร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยปกติแล้วน้ำนมของคุณแม่จะไม่มีกลิ่น หรืออาจมีกลิ่นไปทางหอมเหมือนนมอัดเม็ด เป็นกลิ่นน้ำนมปกติ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณแม่ได้กลิ่นหืน หรือว่าได้กลิ่นคาวเหมือนกลิ่นเลือด แสดงว่าร่างกายกำลังขาดน้ำ สังเกตได้วันต่อวัน ถ้าเมื่อใดก็ตามที่น้ำนมคุณแม่มีกลิ่น แสดงว่าคุณแม่ดื่มน้ำน้อยเกินไป การดื่มน้ำของคุณแม่ที่ถูกต้องคือ จิบทั้งวัน อย่างน้อยให้ได้ 1 แก้วต่อ 1 ชั่วโมง
- อาหาร: ในช่วง 3 เดือนแรกหลังคลอด คุณแม่ควรเลี่ยงอาหารจำพวกของหวาน ของมัน ของทอด ขนม เบเกอรี่ แกงกะทิ เพราะอาหารเหล่านี้ อาจจะทำให้น้ำนมคุณแม่มันขึ้นหรือข้นขึ้น ด้วยช่วงแรก กระเปาะน้ำนมหรือเต้านมยังขยายตัวไม่เต็มที่ ท่อน้ำนมเปิดเพียงไม่กี่ท่อ ถ้าน้ำนมคุณแม่มันเกินไป น้ำนมจะออกมาไม่ค่อยได้ ถ้าน้ำนมออกมาไม่ค่อยได้ ทำให้ปั๊มไม่ค่อยออก หรือเวลาที่ลูกดูด อาจต้องใช้แรงในการดูดค่อนข้างเยอะ จนทำให้หงุดหงิด
- การเคลียร์เต้า: หรือการปั๊มนม ในช่วง 3 เดือนแรกคุณแม่จำเป็นต้องปั๊มนม หรือให้ลูกเข้าเต้า ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนม และพยายามเน้นให้เข้าเต้าให้ได้เยอะ ๆ เพราะในน้ำลายของลูกจะมีสารกระตุ้นน้ำนมอยู่ สำหรับการเคลียร์เต้า คุณแม่สามารถทำได้วันละ 1-2 รอบต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้เรียนรู้ ว่ายังผลิตน้ำนมไม่พอและร่างกายจะผลิตเพิ่มขึ้นมาเอง
- ห้ามกดทับ: ระวังการกดทับท่อน้ำนมทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ชั้นในมีโครง ชั้นในที่กระชับแน่นจนเกินไปถึงแม้ว่าจะไม่มีโครงก็ตาม ก็จะเป็นปัญหากับคุณแม่ได้ เวลาเลือกชั้นในให้คุณแม่พยายามเลือกแบบที่หลวมทั้งรอบอกและรอบเต้า ไม่กระชับมากจนเกินไป เผื่อเวลาที่นมคัดเต้า หรือนมเต็มเต้าไว้ด้วย เพราะหากกดทับมากเกินไป จะเป็นการกดทับท่อ ทำให้น้ำนมไหลไม่ค่อยดี เทียบได้กับสายยางที่ถูกเหยียบทับเอาไว้ทำให้ไหลไม่สะดวก รวมไปถึงการกดกรวยปั๊ม ให้คุณแม่พยายามกดให้เป็นสุญญากาศก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องกดแน่นมากจนเกินไป คุณแม่ส่วนใหญ่ชอบคิดว่าการกดให้แน่นจะทำให้น้ำนมออกมาเยอะ ซึ่งไม่จริง ควรกดให้รู้สึกว่าเป็นสุญญากาศก็เพียงพอ นอกจากนี้ ยังควรระวังการนอนตะแคงทับ คนส่วนใหญ่มักหนีบแขนแล้วนอนทับ ซึ่งจะยิ่งทำให้กดทับท่อ เนื่องจากเต้าด้านข้างจะเป็นช่วงที่มีพื้นที่ค่อนข้างเยอะ เป็นกระเปาะที่ใหญ่และยาวที่สุด ถ้าคุณแม่นอนตะแคงให้พยายามเปิดแขนขึ้น ให้เต้าสัมผัสกับเตียงได้เลย จะไม่มีปัญหา และที่สำคัญควรระวังการกดทับจากศีรษะของลูกเวลาอุ้ม โดยส่วนหัวจะเป็นส่วนที่หนักที่สุด ท่าที่มีปัญหามากที่สุด คือท่าที่อุ้มพาดบ่า ในตอนแรกคุณแม่จะนำลูกขึ้นพาดบ่า แต่พอคุณแม่เริ่มเมื่อย เขาจะเริ่มไหลลงมาจากบ่า แล้วมาตกที่เต้า ซึ่งหากทับอยู่เป็นเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงคุณแม่จะสังเกตได้ว่า เต้าจะเริ่มเป็นแผง เป็นแผ่นเป็นแพขึ้นมา เป็นลักษณะของการกดทับท่อที่ควรระวัง
หากคุณแม่ทำตามวินัย 4 ข้อนี้ได้ ประสิทธิภาพน้ำนมของคุณแม่จะมาเต็มที่แน่นอน
คุณแม่สามารถติดตามบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมของคุณนุ่นได้ที่วิดิโอสัมภาษณ์ คุณแม่จะเพิ่มน้ำนมได้อย่างไร? | คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
หากคุณแม่มีคำถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อคุณนุ่นได้ที่เบอร์โทรศัพท์: 097-9261656