วิธีจัดการอาการช่วงก่อนประจำเดือน
PMS หรืออาการก่อนมีประจำเดือนอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้หญิงทุกคนในแต่ละเดือน การทำความเข้าใจและการดูแลตัวเองจะช่วยให้คุณสามารถจัดการ PMS ได้
PMS หรืออาการก่อนมีประจำเดือนอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับผู้หญิงทุกคนในแต่ละเดือน การทำความเข้าใจและการดูแลตัวเองจะช่วยให้คุณสามารถจัดการ PMS ได้
PMS คืออะไร?
กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome หรือ PMS) เป็นกลุ่มอาการที่สัมพันธ์กับรอบเดือน โดยทั่วไปแล้วจะพบในผู้หญิงอายุ 20 ปลาย ๆ ไปจนถึงช่วงอายุ 40 ต้น ๆ โดยความรุนแรงของอาการมักแตกต่างกันไปในผู้หญิงแต่ละคน
PMS เกิดจากอะไร?
เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิด PMS แต่คาดว่าน่าจะมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในรอบเดือน นอกจากนี้อาจเกี่ยวกับสารเคมีที่หลั่งออกมาจากสมองบางชนิดเช่นเซโรโทนิน เนื่องจากปริมาณเซโรโทนินจะเปลี่ยนแปลงไปในช่วงมีประจำเดือน
ด้านล่างนี้คือความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นทุก ๆ เดือน:
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน: ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนเปลี่ยนไปอย่างมากตลอดรอบเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเทอโรนอาจทำให้เกิดอาการ PMS ได้
- การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง: เซโรโทนินเป็นสารเคมีในสมองที่ส่งผลอย่างมากต่ออารมณ์ เมื่อระดับเซโรโทนินเปลี่ยนแปลงไปจึงอาจทำให้เกิดอาการ PMS ได้ ปริมาณเซโรโทนินที่ไม่เพียงพออาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน ความเหนื่อยล้า อยากอาหารบางชนิด และปัญหาในการนอนหลับ
อาการ PMS ที่พบบ่อย
อาการ PMS มักเกิดในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนประจำเดือนมา โดยอาการมักดีขึ้นเมื่อประจำเดือนเริ่มมาและหายไปเมื่อประจำเดือนหมด อาการอาจมีเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงมากและอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน ด้านล่างนี้คืออาการที่พบบ่อย:
- อารมณ์แปรปรวน
- เหนื่อยล้า หมดแรง
- หงุดหงิดง่าย โกรธง่าย
- ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป และอยากอาหารบางชนิด
- ปัญหาเกี่ยวกับการนอน
- อาการทางร่างกายเช่น ท้องอืด หน้าอกคัดตึง ปวดหัว ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
การหาวิธีบรรเทาอาการ
ถึงแม้จะเกิดความไม่สบายตัวต่าง ๆ แต่มีหลายวิธีที่จะช่วยจัดการอาการ PMS ได้:
- ดูแลสุขภาพ: การออกกำลังกายเป็นประจำจะสามารถช่วยลดอาการต่าง ๆ เช่น อาการซึมเศร้า เหนื่อยล้า และอารมณ์แปรปรวนได้ การทานอาหารที่เหมาะสมและกินผักผลไม้ ธัญพืช และโปรตีนไม่ติดมันก็สามารถช่วยได้ พยายามลดการดื่มคาเฟอีน แอลกอฮอลล์ อาหารหวาน และลดเกลือเพื่อลดอาการต่าง ๆ
- การใช้ยาสามัญประจำบ้าน: ยาที่ไม่จำเป็นต้องให้แพทย์สั่งเช่นยาแก้ปวดจะสามารถช่วยลดอาการปวดหัว หน้าอกคัดตึง ปวดหลัง และอาการปวดท้องได้ หากคุณมีอาการท้องอืด คุณก็สามารถใช้ยาขับลมหรือยาตามอาการอย่างอื่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้
- การใช้ยาตามแพทย์สั่ง: ในบางกรณีผู้ให้บริการทางการแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาบางชนิดเช่นยาคุม หรือยาต้านโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะหากอาการมีความรุนแรงหรือรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
- การประคบอุ่น: ความร้อนสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้องที่เกิดจาก PMS ได้ และยังช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ลดความไม่สบายตัว ลดความเจ็บปวด เพิ่มการไหลเวียนของเลือดและช่วยให้จิตใจผ่อนคลายขึ้นได้
- การรักษาทางเลือก: ผู้หญิงบางคนก็พบว่าการรักษาทางเลือกเช่นการฝังเข็มหรือการนวด หรือสมุนไพรบางชนิดสามารถช่วยได้
- การจัดการความเครียด: เทคนิคจัดการความเครียดเช่นโยคะ ทำสมาธิ หรือฝึกหายใจลึก ๆ สามารถช่วยให้คุณรู้สึกสงบและอาจช่วยลดอาการ PMS ได้บ้าง
โปรดทราบว่าผู้หญิงแต่ละคนมีประสบการณ์ PMS ในรูปแบบของตัวเอง สิ่งที่ได้ผลกับคนหนึ่งอาจไม่ได้ผลกับอีกคนก็ได้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับอาการของคุณและหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการรักษา
รับรองโดย:
นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 มิถุนายน 2023)