คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการจัดการอาการปวดประจำเดือน
ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญกับการปวดประจำเดือนในทุก ๆ เดือน โชคดีที่มีหลายวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้
ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญกับการปวดประจำเดือนในทุก ๆ เดือน โชคดีที่มีหลายวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้
การปวดประจำเดือนคืออะไร?
การปวดประจำเดือน มักมีอาการเจ็บปวดเกร็งกล้ามเนื้อที่หน้าท้องส่วนล่าง บางครั้งอาจปวดลามไปถึงหลังล่างและต้นขา ในกลุ่มผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือนจะมี 1 ใน 10 คนที่รู้สึกปวดอย่างรุนแรง
หลายวิธีที่สามารถทำได้เพื่อบรรเทาการปวดประจำเดือน
บ่อยครั้งคุณสามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้โดยวิธีธรรมชาติง่าย ๆ ตัวอย่างด้านล่างนี้คือสิ่งที่คุณสามารถทำได้:
- ประคบร้อน: ลองแปะแผ่นประคบร้อนบริเวณหน้าท้องส่วนล่างเพื่อช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและบรรเทาอาการหดเกร็ง การอาบน้ำอุ่นก็ให้ผลคล้ายคลึงกันเพราะจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและลดอาการไม่สบายตัวได้
- นวดผ่อนคลาย: นวดบริเวณหน้าท้องส่วนล่างเบา ๆ จะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายและบรรเทาอาการปวดเกร็งได้
- ออกกำลังกายเบา ๆ : เป็นที่ทราบกันว่าการออกกำลังกายช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ เพราะทำให้ร่างกายหลั่งเอนดอร์ฟินซึ่งเป็นยาแก้ปวดตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องออกกำลังหนักมาก อาจออกกำลังเบา ๆ เช่นออกไปเดินเล่นก็สามารถช่วยได้
- ใช้เทคนิคผ่อนคลาย: ความเครียดอาจทำให้อาการปวดประจำเดือนแย่ลงได้อย่างมาก การทำสมาธิ หายใจเข้าออกลึก ๆ และฝึกโยคะจะช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายขึ้น
- ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ: การเปลี่ยนอาหารที่รับประทานอาจส่งผลต่อการปวดประจำเดือนได้ ควรบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม เช่นถั่ว เมล็ดพืช และผักใบเขียวซึ่งสามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้
- ดื่มน้ำมาก ๆ : การดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยป้องกันอาการท้องอืดซึ่งอาจทำให้อาการปวดประจำเดือนแย่ลงได้
- การใช้ยา: ยาแก้ปวดที่มีจำหน่ายส่วนใหญ่สามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ ยาจะเข้าไปช่วยลดการผลิตพรอสตาแกลนดิน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้มดลูกบีบตัวและเกิดความเจ็บปวด
- สมุนไพรบำบัด: สมุนไพรบางชนิดเช่นขิง ซินนามอน และคาโมมายล์ สามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ คุณอาจบริโภคสมุนไพรเหล่านี้โดยดื่มชา ทานอาหารเสริม หรือบริโภคสมุนไพรโดยตรง โดยควรปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์ก่อนเริ่มใช้สมุนไพรชนิดใหม่
ประจำเดือนและสุขภาพระยะยาว
ระหว่างมีประจำเดือนคุณอาจปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้เพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพของคุณเองในระยะยาว
- ออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากจะช่วยลดอาการปวดประจำเดือนแล้วยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและสุขภาพดี
- ทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กเพื่อทดแทนธาตุเหล็กที่สูญเสียไประหว่างการมีประจำเดือน และป้องกันการเป็นโรคเลือดจางในระยะยาว
- หลีกเลี่ยงการทานคาเฟอีนและแอลกอฮอลล์ปริมาณมากเกินไประหว่างที่มีประจำเดือน เพื่อส่งเสริมสุขภาพระยะยาว คาเฟอีนและแอลกอฮอลล์จะทำให้อาการปวดประจำเดือนแย่ลงและทำให้ขาดน้ำได้
- ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อร่างกายได้พักผ่อนเพียงพอจะสามารถจัดการกับความเจ็บปวดและความเครียดได้ดีกว่า
- ควรทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การทำให้เป็นนิสัยจะช่วยให้ร่างกายเตรียมรับมือกับความเครียดช่วงมีประจำเดือนได้ดีขึ้น
อาหารเอเชีย
อาหารเอเชียส่วนใหญ่มีส่วนประกอบของถั่วเหลืองปริมาณมาก ถั่วเหลืองมีปริมาณไฟโตเอสโตรเจนสูง ไฟโตเอสโตรเจนคือสารประกอบจากพืชที่เลียนแบบเอสโตรเจนในร่างกาย ถึงแม้ว่าการบริโภคถั่วเหลืองปริมาณพอเหมาะจะดีต่อสุขภาพ แต่หากบริโภคมากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบต่อรอบเดือนและสมดุลของฮอร์โมนได้ ตัวอย่างเช่นในทางทฤษฎีแล้วการบริโภคถั่วเหลืองมากเกินไปจะทำให้ประจำเดือนมามากและไม่สม่ำเสมอในผู้หญิงบางคน
เมื่อไรที่ควรปรึกษาแพทย์
ถึงแม้ว่าอาการปวดประจำเดือนจะพบได้บ่อย แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทราบว่าเมื่อไรควรขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ หากมีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงมาก ปวดเป็นเวลานานกว่าปกติ และมีอาการเลือดออกมากร่วมด้วย ทั้งหมดนี้อาจเป็นสัญญาณของปัญหาเช่นภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือเนื้องอกมดลูก ในกรณีเหล่านี้จึงควรปรึกษาแพทย์
การทำความเข้าใจร่างกายของตนเองและมีมาตรการเชิงรุกเพื่อดูแลสุขภาพจะช่วยให้ประสบการณ์ของการมีประจำเดือนของคุณดีขึ้น และยังทำให้สุขภาวะโดยรวมดีขึ้นด้วย
รับรองโดย:
นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 มิถุนายน 2023)