โยคะและการทำสมาธิ: หนทางสู่การเป็นแม่
โยคะและการทำสมาธิได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น และช่วยเพิ่มภาวะเจริญพันธุ์ด้วย

โยคะและการทำสมาธิได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น และช่วยเพิ่มภาวะเจริญพันธุ์ด้วย
ในฐานะผู้หญิงที่กำลังเตรียมตัวสู่การเป็นแม่ การทำความเข้าใจพลังของการทำสมาธิและโยคะจะช่วยให้คุณมีเครื่องมือที่ดีอีกอย่างหนึ่งได้
โยคะเพื่อสุขภาพโดยรวม
โยคะเป็นการฝึกทั้งร่างกายและจิตใจที่รวมเอาท่าต่าง ๆ การฝึกหายใจ และการทำสมาธิเข้าด้วยกัน การฝึกโยคะเป็นประจำจะช่วยลดความเครียด เพิ่มสมรรถภาพทางกาย และช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น นอกจากนี้ยังพิสูจน์แล้วว่าโยคะช่วยให้ความดันเลือดดีขึ้น ลดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า ช่วยเพิ่มคุณภาพในการนอนหลับและทำให้สุขภาวะโดยรวมดีขึ้น
การทำสมาธิกับสุขภาพโดยรวม
การทำสมาธิซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโยคะเป็นการฝึกปฏิบัติที่ใช้การรวบรวมความคิดเพื่อให้เข้าสู่สภาวะที่สงบและกระจ่างแจ้ง การวิจัยพบว่าการทำสมาธิเป็นประจำจะช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวล เพิ่มความจดจ่อ สมาธิ และยังช่วยเพิ่มความรู้สึกเข้าอกเข้าใจผู้อื่นและความเห็นอกเห็นใจอีกด้วย นอกจากนี้การทำสมาธิยังส่งผลให้สุขภาพกายดีขึ้นเช่นสุขภาพหัวใจและระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทั้งสองอย่างนี้มีโอกาสในการช่วยให้ผนังมดลูกหนาขึ้นและช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ในเพศหญิงได้
โยคะเพื่อสุขภาพและภาวะเจริญพันธุ์
นอกเหนือจากผลดีด้านสุขภาพโดยทั่วไปแล้ว โยคะอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้สุขภาพภาวะการเจริญพันธุ์ดีขึ้นได้ โยคะช่วยลดความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากที่มักส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ ดังนั้นการทำโยคะเป็นประจำทุกวันจะช่วยเพิ่มโอกาสในการช่วยให้ฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายสมดุล ทำให้รอบเดือนสม่ำเสมอ และช่วยเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์
การทำท่าโยคะบางท่าจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะสืบพันธุ์ เพื่อช่วยให้รังไข่ทำงานได้ดีขึ้นและอาจเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้ ตัวอย่างท่าโยคะมีดังนี้:
ท่าพาดขาที่กำแพง: ท่าที่ผ่อนคลายนี้จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกราน
- เริ่มจากนั่งใกล้กำแพง
- ยกขาขึ้นพาดกำแพงอย่างระมัดระวังและค่อย ๆ นอนหงายราบกับพื้น
- วางแขนข้างลำตัว ฝ่ามือหงายขึ้น ผ่อนคลายและหายใจลึก ๆ
- ค้างไว้ 5 – 15 นาที
ท่างูเห่า: เชื่อว่าท่านี้ช่วยกระตุ้นอวัยวะสืบพันธุ์ได้
- นอนคว่ำ วางมือใต้หัวไหล่และให้ข้อศอกชิดกับลำตัว
- ดันมือกับพื้นเพื่อยกหน้าอกขึ้น ดันหัวไหล่ไปด้านหลัง
- ค้างเอาไว้สองสามลมหายใจ จากนั้นกดลำตัวลงกับพื้น
- ค้างเอาไว้ 15 – 30 นาที ทำซ้ำ 5 ครั้งโดยพัก 15 วินาทีระหว่างท่า
ท่าผีเสื้อ: ท่านี้ช่วยในการเปิดสะโพกและเพิ่มความยืดหยุ่นบริเวณเชิงกราน
- นำฝ่าเท้ามาประกบกันด้านหน้าและปล่อยให้หัวเข่าตกลงด้านข้าง
- จับเท้าหรือข้อเท้าเอาไว้แล้วหายใจลึก ๆ
- คุณสามารถค้างอยู่ที่ท่านี้ประมาณ 1 – 5 นาที
ท่านั่งก้มตัวไปด้านหน้า: ท่านี้ช่วยผ่อนคลายจิตใจและลดความเครียดไปพร้อมกับการยืดหลังส่วนล่าง ต้นขาด้านหลัง และสะโพก
- นั่งยืดขาตรงออกไปด้านหน้า
- ยื่นมือออกไปข้างหน้าเพื่อจับเท้า หรือจับส่วนอื่นของขาเท่าที่สามารถทำได้ โดยให้หลังยืดตรง
- ค่อย ๆ โน้มตัวไปด้านหน้าอย่างระมัดระวังโดยใช้หน้าอกนำ
- พยายามค้างท่าเอาไว้ 1 – 3 นาที
ท่านอนขัดสมาธิเท้าแตะกัน: ท่านี้เป็นท่าที่ผ่อนคลาย ช่วยยืดสะโพกและกระตุ้นบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
- เริ่มจากการนั่งท่าผีเสื้อโดยให้ฝ่าเท้าสองข้างประกบกัน หัวเข่าอยู่ด้านข้าง
- ค่อย ๆ นอนหงายลงอย่างระมัดระวัง โดยให้ขาอยู่ตำแหน่งเดิม
- ปล่อยแขนทั้งสองข้างลงข้างลำตัวอย่างสบาย ๆ หงายฝ่ามือขึ้น
- ควรทำท่านี้เป็นท่าสุดท้ายของการทำโยคะ หรือก่อนนอน โดยค้างท่าเอาไว้ 5 – 10 นาที
ถึงแม้ท่าต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ แต่โปรดทราบว่าร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นสิ่งที่ได้ผลกับคนหนึ่งอาจไม่ได้ผลกับอีกคนหนึ่งก็ได้ การใช้บริการผู้เชี่ยวชาญด้านโยคะที่ถนัดด้านภาวะเจริญพันธุ์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่อาจเป็นประโยชน์ในการช่วยแนะนำท่าที่ถูกต้องได้
การออกกำลังกายอื่น ๆ ที่ให้ประโยชน์คล้ายคลึงกัน
ถึงแม้โยคะจะมีประโยชน์มากมาย แต่การออกกำลังกายแบบอื่น ๆ ก็สามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและภาวะเจริญพันธุ์ได้ กิจกรรมเช่นพิลาทิส ว่ายน้ำ หรือการออกกำลังกายแบบแอโรบิกเบา ๆ ต่างก็ดีสำหรับสุขภาพโดยรวม ช่วยลดความเครียด เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยคุมน้ำหนักให้เหมาะสม และยังช่วยคุมระดับความเครียดไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างก็ส่งผลดีต่อภาวะเจริญพันธุ์อย่างมาก
ไม่ว่าคุณจะกำลังพยายามเป็นพ่อแม่หรือกำลังวางแผนสำหรับอนาคต การทำกิจกรรมที่ใช้การประสานกันของร่างกายและจิตใจอย่างเช่นโยคะและการทำสมาธิเป็นประจำจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ไม่ใช่แค่ความแข็งแรงของร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่การดูแลสุขภาพจิตก็สำคัญไม่แพ้กัน และถึงแม้โยคะและการทำสมาธิจะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง แต่ก็จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนสุขภาพองค์รวมที่ดี ซึ่งรวมถึงการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและการดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม
รับรองโดย:
นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 มิถุนายน 2023)