ทำความรู้จัก MFM แพทย์ผู้ดูแลการตั้งครรภ์เสี่ยงสูง
เกร็ดความรู้

ผู้หญิงที่ครรภ์มีความเสี่ยงสูงมักได้รับการดูแลจากแพทย์ปริกำเนิด(perinatologist) หรือที่เรียกกันว่าผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ เรียกย่อ ๆ ว่า MFM (maternal-fetal medicine)
แพทย์ MFM คืออะไร?
แพทย์ MFM เป็นสูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ซึ่งจะต้องศึกษาและได้รับการฝึกฝนเฉพาะทางเพิ่มเติมเป็นเวลา 2 ปี โดยจะศึกษาวิธีแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดได้ในทุกช่วงของการตั้งครรภ์ แพทย์ MFM จะดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีปัญหาทางสุขภาพร้ายแรงซึ่งต้องการการดูแลเป็นพิเศษ โดยแพทย์เหล่านี้อาจมีชื่อเรียกว่าแพทย์ปริกำเนิด (perinatologist) หรือแพทย์ผู้ดูแลครรภ์ความเสี่ยงสูง
งานของแพทย์ MFM ต้องทำอะไรบ้าง?
งานของแพทย์เฉพาะทาง MFM มีดังนี้
- รับฝากครรภ์ และให้คำปรึกษาคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง
- ดูแลปัญหาทางสุขภาพต่าง ๆ ที่เป็นก่อนตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง, และโรคหัวใจ
- ดูแลคุณแม่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เช่นภาวะครรภ์เป็นพิษ, ภาวะครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง ทั้งระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างการคลอด
- ติดตามการเจริญเติบโต และพัฒนาการของทารกในครรภ์โดยใช้อัลตราซาวนด์และการทดสอบอื่น ๆ
- ทำการทดสอบเช่น เจาะน้ำคร่ำ การตัดชิ้นเนื้อรก (chorionic villus sampling – CVS) หรือการเจาะเลือดสายสะดือทารกในครรภ์ เพื่อตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม และความพิการแต่กำเนิด
- วินิจฉัยและดูแลความพิการแต่กำเนิด โรคหัวใจ ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเลือดของทารกที่กำลังพัฒนาในครรภ์ รวมถึงทำการผ่าตัดหากจำเป็น
- ดูแลการคลอดตั้งแต่เจ็บครรภ์จนถึงการทำคลอดในคุณแม่ที่ครรภ์มีความเสี่ยงสูง
- ดูแลการคลอด ดูแลปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดกับคุณแม่หลังคลอด เช่นการตกเลือด ติดเชื้อ หรือความดันโลหิตสูง
- วิเคราะห์หาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ในอนาคต
การตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เป็นอย่างไร?
การตั้งครรภ์จะถือว่ามีความเสี่ยงสูงในกรณีต่อไปนี้
- คุณแม่มีปัญหาทางสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว เช่น เป็นโรคหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง, โรคลมชัก, โรคการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ, การติดเชื้อ(เช่น HIV ไซโตเมกาโลไวรัส หรือพาร์โวไวรัส)
- มีปัญหาในการตั้งครรภ์ครั้งก่อนหน้า เช่นการคลอดก่อนกำหนด
- ตั้งครรภ์ทารกหลายคน เช่นลูกแฝดสอง แฝดสามหรือมากกว่า
- คุณแม่ที่ต้องการการตรวจเป็นพิเศษ หรือต้องผ่านขั้นตอนบางอย่างเป็นพิเศษ
- ทารกมีความพิการแต่กำเนิด
- พบความผิดปกติทางอัลตราซาวนด์
หากคุณแม่คิดว่าตัวเองมีครรภ์เสี่ยงสูง ลองปรึกษาคุณหมอว่าจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้าน MFM หรือไม่ เพื่อจำกัดความเสี่ยงและช่วยให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยมากขึ้น
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (1 กรกฎาคม 2022)