ท่านอนคนท้อง ท่านอนที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่ท้องในไตรมาสที่3
คุณแม่
ในระหว่างสัปดาห์ท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจพบว่าการพยายามหาท่านอนที่สบายพอที่จะหลับลงได้เป็นเรื่องยากมาก ๆ เพราะท่านอนปกติของคุณแม่อาจไม่สามารถทำให้หลับลงได้ง่าย ๆ อีกต่อไป มีเหตุผลหลายประการที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบายตัวนี้ แต่ก็มีท่านอนบางท่า ที่คุณแม่สามารถลองใช้ ซึ่งอาจช่วยทำให้คุณแม่ได้พักผ่อนตามที่ต้องการได้มากขึ้น
ทำไมถึงรู้สึกอึดอัดมากในช่วงนี้
ในขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะรบกวนการนอนหลับตามปกติของคุณแม่ได้
เหตุผลที่ทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวอาจรวมถึง:
- ท้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
- อาการปวดหลัง
- อาการจุกเสียดท้อง
- หายใจได้สั้น และไม่ลึก
- คิดมากนอนไม่หลับ
เคล็ดลับการนอนที่ดีในช่วงไตรมาสที่ 3
อาการดังกล่าวข้างต้นเป็นอาการชั่วคราว และอาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจสามารถจัดการกับอาการเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง โดยการลองทำตามคำแนะนำง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงท่านอนที่ไม่เหมาะสมในช่วงไตรมาสที่ 3 และเพื่อการนอนหลับพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพ:
- ใช้หมอน และหมอนข้างเพื่อช่วยให้นอนหลับสบาย ถ้าเป็นไปได้ คุณแม่อาจซื้อหมอนโค้งสำหรับหญิงตั้งครรภ์มาลองใช้เพื่อให้สามารถนอนในท่าที่ถูกต้องและสบายขึ้น
- พยายามนอนตะแคงซ้าย และใช้หมอนข้างพาดระหว่างขา และหนุนหลังของคุณแม่เพื่อรับน้ำหนักด้านหลังเป็นพิเศษ
- สวมชุดนอนที่ใส่สบาย ๆ และหลีกเลี่ยงเสื้อผ้ารัดกระชับตัว ควรเลือกใช้ผ้าฝ้ายที่สามารถระบายอากาศได้ดี ซึ่งจะทำให้คุณแม่รู้สึกสบาย และรู้สึก “อยากนอน”
- การนอนราบลงบนเตียงอาจจะไม่ให้ความรู้สึกสบายนักในช่วงไตรมาสที่ 3 หากคุณแม่รู้สึกสบายกว่าที่จะนอนบนเก้าอี้ที่นุ่ม ๆ หรือโซฟา ก็นอนบนนั้นได้เลย
- รับประทานอาหารเบา ๆ ในมื้อเย็น หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดเนื่องจากมักจะทำให้เกิดอาการเสียดท้องที่อาจรุนแรงขึ้นในช่วงกลางคืน
- ลองออกกำลังกายเบา ๆ ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยทำให้ผ่อนคลาย และทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนได้ดีขึ้น ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น
คุณแม่อาจรู้สึกว่าคำแนะนำเหล่านี้ ดูไม่ค่อยจะทำให้สบายขึ้นเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณแม่คุ้นเคยกับการนอนหงาย หรือนอนคว่ำมากกว่า แต่ก็ไม่เสียหายอะไรที่จะลองทำตามดู มันอาจได้ผลมากกว่าที่คุณแม่คิดก็ได้ คุณแม่อาจไม่ได้นอนท่าเดิมตลอดทั้งคืน ซึ่งการเปลี่ยนท่านอนนั้นก็ไม่ได้มีผลเสียอะไร
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (8 มีนาคม 2019)