ปัญหาในการให้นม : เจ็บเต้านม
นมแม่
หลังจากให้นมลูกน้อยไปสองสามวัน หรือสองสามสัปดาห์ คุณแม่อาจพบว่ามีก้อนแข็ง ๆ ที่บริเวณเต้านมและเจ็บเมื่อกด หรืออาจมีอาการปวดบวมที่เต้านม และสงสัยว่าจะหลีกเลี่ยงอาการนี้ได้อย่างไร
ด้านล่างนี้คือปัญหาเกี่ยวกับเต้านมที่เกิดจากการให้นมบุตรที่คุณแม่หลายคนมักพบบ่อย พร้อมวิธีการบรรเทาอาการเหล่านั้น
เต้านมอักเสบเนื่องจากท่อน้ำนมอุดตัน
อาการท่อน้ำนมอุดตัน มักเกิดจากการให้นมไม่สม่ำเสมอ หรือการเข้าเต้าไม่ถูกวิธี ทำให้ลูกน้อยไม่สามารถดูดนมออกมาได้แรงพอ ผลที่ตามมาคือลูกน้อยดูดนมไม่เกลี้ยงเต้า ซึ่งทำให้เกิดนมเหลือและค่อย ๆ สะสมอุดตันท่อน้ำนม ซึ่งจะไปกีดขวางการไหลของน้ำนม หากคุณแม่สังเกตเห็นตุ่มขาว ๆ บนหัวนม หรือรู้สึกว่ามีก้อนแข็งในเต้านมที่กดแล้วรู้สึกเจ็บ สิ่งเหล่านี้คือสัญญาณบ่งบอกว่าอาจมีอาการท่อน้ำนมอุดตัน ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงแรงกดดัน: ไม่ควรใส่เสื้อชั้นในที่รัดแน่นเกินไปเพราะอาจบีบรัดการไหลเวียนของน้ำนมในท่อน้ำนม และท่านอนบางท่าที่เพิ่มแรงกดทับไปที่เต้านมอาจไปกีดขวางการไหลของน้ำนมในท่อน้ำนมเช่นกัน คุณแม่ควรใส่เสื้อชั้นในสำหรับให้นม และนอนท่าที่ไม่มีการกดทับบริเวณรักแร้ไปจนถึงไหปลาร้า
- ให้ลูกดื่มนมจากข้างที่มีการอุดตัน: ควรให้ลูกน้อยดื่มนมจากเต้านมข้างที่อุดตัน เพราะแรงดูดของลูกจะช่วยสลายก้อนน้ำนมให้หลุดออกและช่วยให้น้ำนมไหลออกมาได้ดีขึ้น แต่ก็อย่าลืมให้ลูกดื่มจากข้างที่ปกติด้วยเพื่อรักษาอัตราการผลิตน้ำนมเอาไว้ หากเต้านมข้างที่ไม่ได้ดูดมีน้ำนมซึมออกมา ให้ใส่ที่ครอบหัวนมเพื่อเก็บน้ำนม หรือใช้นิ้วอุดไว้เพื่อหยุดการไหล หากลูกน้อยไม่ได้ดื่มนมข้างนั้น หลังให้นมเสร็จแล้ว คุณแม่สามารถปั๊มและเก็บน้ำนมสำรองเอาไว้ได้
- ให้ความอบอุ่น: พยายามนวดเต้านมหรือประคบด้วยผ้าอุ่น ๆ อย่างเบามือก่อนการให้นม เทคนิคนี้จะช่วยให้น้ำนมไหลผ่านท่อน้ำนมได้ดีขึ้น
อาการเต้านมบวม
เมื่อน้ำนมเริ่มมา หรือเมื่อร่างกายของคุณแม่ผลิตน้ำนมได้มากกว่าความต้องการของลูกน้อย เต้านมอาจบวมและรู้สึกเจ็บได้ ก่อนที่ร่างกายของคุณแม่จะปรับปริมาณการผลิตนมให้พอเหมาะกับความต้องการของลูก คุณแม่สามารถใช้วิธีเหล่านี้เพื่อบรรเทาอาการปวดได้
- การนวดก่อนให้นม: เมื่อเต้านมคุณแม่เต็มไปด้วยน้ำนม บริเวณหัวนมและลานหัวนมของคุณแม่มักจะตึงเกินไป ทำให้ปากเล็ก ๆ ของเจ้าตัวน้อยเข้าเต้าเพื่อดูดนมได้ยากขึ้น การนวดคลึงบริเวณลานหัวนมก่อนการให้นมลูกน้อยจะช่วยให้ลูกดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณแม่สามารถใช้นิ้ว 2-3 นิ้ววางใต้ลานหัวนม จากนั้นใช้นิ้วโป้งกดลงจากด้านบนเพื่อนวดคลึงเป็นวงกลมจนกว่าหัวนมจะอ่อนนุ่มลงได้
- การรีดนม: คุณแม่สามารถใช้มือรีดนมจากเต้านมเป็นเวลาสองสามนาทีก่อนการให้นม การรีดนมจะช่วยลดแรงกดดันจากอาการคัดตึง และช่วยให้ลูกน้อยเข้าเต้าได้ง่ายขึ้น หรือจะใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าก็เป็นตัวเลือกที่สะดวกเช่นกัน
หากคุณแม่ยังคงพบปัญหาเจ็บเต้านม โดยความเจ็บนั้นยังไม่หายไปหลังจากการให้นมไปแล้วสักพัก หรือมีอาการเจ็บปวดพร้อมกับผิวหนังแดงหรือมีไข้ ควรติดต่อคุณหมอทันทีเพื่อวินิจฉัยอาการ
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (10 พฤศจิกายน 2021)