ปัญหาในการให้นม: เจ็บหัวนม
นมแม่
โดยปกติแล้วการให้นมลูกน้อยไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ แต่เมื่อลูกน้อยเริ่มดูดนม คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บนิดหน่อยเป็นปกติ และเมื่อน้ำนมเริ่มไหลออกมา ร่างกายของคุณแม่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย เช่นเดียวกับร่างกายของลูกน้อย
ด้านล่างนี้คืออาการเจ็บจากการให้นมลูกที่คุณแม่หลาย ๆ คนพบเจอ และเทคนิคในการบรรเทาอาการเหล่านั้น
ความเจ็บปวดจากการดูด
หัวนมของคุณแม่ต้องใช้เวลาเพื่อให้เคยชินกับการดูดของลูกน้อย ก่อนที่ลูกจะรู้จักเข้าเต้านมอย่างถูกต้อง คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บหรือมีปัญหาหัวนมแตกได้ โดยสามารถแก้ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- พยายามอดทนอีกหน่อย: ความไม่สบายตัวจากอาการหัวนมแตก หรือเลือดไหลอาจทำให้คุณแม่หมดกำลังใจในการให้นมลูกน้อย แต่หากคุณแม่อดทนไหวควรทำต่อไป เพราะร่างกายต้องได้รับการกระตุ้นจากการดูดเพื่อรักษาปริมาณการผลิตน้ำนมและป้องกันไม่ให้ท่อน้ำนมอุดตัน สิ่งสำคัญที่สุดคือทารกน้อยยังต้องฝึกเข้าเต้า และฝึกให้คุ้นเคยกับหน้าอกของคุณแม่
- ให้ลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี: การดูดที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดคือลูกน้อยควรอ้าปากกว้างและอมงับทั้งหัวนมและลานหัวนม คางของลูกน้อยควรสัมผัสกับหน้าอกของคุณแม่และหายใจได้สะดวก
ปัญหาจากกายวิภาคของหัวนม
หากหัวนมของคุณแม่แบนหรือบอด ทารกน้อยอาจเข้าเต้าและดูดได้ยากขึ้น และกว่าหัวนมจะยื่นออกมาจะต้องใช้เวลาพอควร ซึ่งกระบวนการนี้อาจมีความเจ็บปวด คุณแม่อาจใช้วิธีต่อไปนี้ในการช่วยดึงหัวนมออกมา
- สวมที่ครอบหัวนม: หากคุณแม่ทราบอาการผิดปกติที่หัวนมตั้งแต่ตั้งครรภ์ ควรสวมปทุมแก้วที่ออกแบบมาเพื่อช่วยดึงหัวนมให้ยื่นออกมามากขึ้น โดยสามารถเริ่มใส่ได้ตั้งแต่สองสามสัปดาห์ก่อนกำหนดคลอด
- เครื่องปั๊มนม: การดูดของเครื่องปั๊มนม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปั๊มนมแบบปั๊มมือหรือเครื่องปั๊มนมแบบไฟฟ้าสามารถดึงให้หัวนมยื่นออกมาได้ คุณแม่สามารถใช้เครื่องปั๊มนมได้ทันทีหลังคลอดหากลูกน้อยมีปัญหาในการเข้าเต้า นอกจากนี้คุณแม่สามารถรีดนมด้วยมือก่อนที่จะให้นมลูกน้อยได้
- กระตุ้นหัวนม: ก่อนการให้นม คุณแม่อาจใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดบริเวณลานหัวนมเบา ๆ จากนั้นให้ยืดเนื้อเยื่อบริเวณนั้นเพื่อให้หัวนมยื่นออกมามากขึ้น ทำท่านี้หลาย ๆ ครั้งต่อวันสามารถช่วยได้
การใช้ยารักษา
อาการหัวนมแตกจะค่อย ๆ หายไปเมื่อลูกน้อยเข้าเต้านมได้เก่งขึ้น ระหว่างนี้คุณแม่สามารถใช้ตัวช่วยต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดได้
- รักษาความชุ่มชื้น: หลังการให้นมแต่ละครั้ง คุณแม่สามารถใช้น้ำนมแม่ทาถูบริเวณหัวนมเพื่อให้ความชุ่มชื้น และป้องกันไม่ให้หัวนมแตกมากขึ้นกว่าเดิม คุณแม่บางคนพบว่าการใช้ครีมที่มีลาโนลินบริสุทธิ์ช่วยบรรเทาอาการได้เพราะช่วยให้หัวนมคงความชุ่มชื้นและอ่อนนุ่ม
- การบรรเทาความเจ็บปวดแบบอื่น ๆ : คุณแม่อาจใช้การประคบร้อน หรือประคบเย็นก็ได้ตามที่คุณแม่รู้สึกดี และกดเบา ๆ ลงบนบริเวณหัวนมเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด จากนั้นปล่อยให้หัวนมแห้งเองตามธรรมชาติ
- ยารักษา: หากความเจ็บปวดรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน คุณแม่สามารถกินยาพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟนได้ อย่างไรก็ตามควรปรึกษาคุณหมอก่อนว่ายาประเภทไหนที่ปลอดภัยระหว่างช่วงที่ให้นมลูกน้อย
ความเจ็บปวดและไม่สบายตัวนับเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่หลายคนต้องเจอ แต่อย่าลืมว่าการให้นมลูกไม่ใช่แค่วิธีการป้อนนมลูกเท่านั้น แต่คือการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่และลูก และเป็นช่วงเวลาที่ทั้งสองจะได้ทำความรู้จักกันและกัน ดังนั้นควรให้เวลาในการเรียนรู้สักหน่อย เชื่อมั่นในร่างกายของตัวเอง และลูกน้อยในการเดินทางอันแสนวิเศษนี้
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (10 พฤศจิกายน 2021)