ปัญหาเกี่ยวกับการให้นม: เมื่อคุณแม่น้ำนมไม่พอ
นมแม่
คุณแม่มือใหม่มักกังวลว่าจะไม่มีน้ำนมที่เพียงพอให้ลูก ซึ่งความกังวลนี้อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ล้มเลิกการให้นมลูกน้อยเร็วเกินไป
ทารกแต่ละคนมีความต้องการที่แตกต่างกัน โดยแต่ละคนดื่มนมเป็นระยะเวลานานไม่เท่ากัน และดื่มในปริมาณที่แตกต่างกันมาก โดยเฉลี่ยแล้ว เด็กทารกแรกเกิดอาจดื่มนมตั้งแต่ 40-90 มิลลิลิตร และเมื่อเขาอายุ 4 เดือน เขาจะดื่มนมประมาณ 120-180 มิลลิลิตร จากนั้นจะดื่ม 180-240 มิลลิลิตรเมื่ออายุ 6 เดือน ความถี่ในการดื่มนมของแต่ละคนก็แตกต่างกันด้วยเช่นกัน โดยทารกบางคนอาจดูดนมตั้งแต่ 4-13 ครั้งต่อวัน และการให้นมแต่ละครั้งอาจใช้เวลาตั้งแต่ 12 นาทีไปจนถึง 1 ชั่วโมง
อาการที่น่าเป็นห่วงที่บ่งบอกว่าน้ำนมไม่พอ
เต้านมเล็ก น้ำนมไม่ซึม หรือปั๊มนมแล้วได้ไม่มากพอ ไม่ได้แปลว่าคุณแม่มีน้ำนมน้อย น้ำนมน้อยอาจจะเป็นเพราะความต้องการของลูกน้อยก็เป็นได้ ก่อนที่คุณแม่จะกังวลมากเกินไป การที่มีน้ำนมน้อยจนส่งผลต่อพัฒนาการของทารกน้อย มักมีสัญญาณเตือนดังนี้
- น้ำหนักตัวลูกน้อยไม่เพิ่มกลับมาเท่าน้ำหนักแรกเกิดภายในเวลา 2 สัปดาห์หลังคลอด
- สีผิวของทารกมีสีออกเหลือง ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคดีซ่าน
- ทารกขับถ่ายน้อย โดยปัสสาวะและอุจจาระมีสีเข้ม ซึ่งเป็นสัญญาณว่าทารกขาดน้ำ
วิธีทำให้แน่ใจว่าคุณแม่มีน้ำนมเพียงพอสำหรับลูกน้อย
คุณแม่ควรทำกิจกรรมเหล่านี้ทุกวัน เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายของคุณแม่ผลิตน้ำนมในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย
- ให้นมลูกบ่อย ๆ : ร่างกายของคุณแม่จะยังไม่ผลิตน้ำนมจนกว่าจะถึง 3-5 วันหลังคลอด อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรเริ่มกระตุ้นการผลิตน้ำนมหลังคลอดทันที เพื่อให้น้ำนมมาในภายหน้า พยายามให้นมบ่อย ๆ โดยในช่วงสองสามเดือนแรกควรให้นมลูกทุก 2-3 ชั่วโมง หากทารกยังดูดไม่เก่ง คุณแม่อาจกระตุ้นการผลิตน้ำนมโดยใช้เครื่องมืออื่น ๆ เช่นการบีบน้ำนมด้วยมือ การใช้เครื่องปั๊มนมด้วยมือ หรือใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้า
- ดื่มน้ำมาก ๆ และทานอาหารที่มีประโยชน์: ร่างกายของคุณแม่ที่กำลังให้นมนั้นขาดน้ำได้ง่าย และต้องการใช้พลังงานมากขึ้นประมาณ 500 กิโลแคลอรีต่อวัน ดังนั้นคุณแม่ควรทานอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอในการผลิตนม นอกจากนี้ควรดื่มน้ำมาก ๆ ตลอดวันเพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป โดยคร่าว ๆ แล้วควรดื่มน้ำปริมาณ 8 ออนซ์ หรือ 240 มิลลิลิตรต่อการให้นมแต่ละครั้ง
- พักผ่อนมาก ๆ และหลีกเลี่ยงความเครียด: การอยู่ใกล้ชิดลูกน้อยจะช่วยให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะส่งสัญญาณให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมา ดังนั้นการนอนหรืองีบไปพร้อมกับลูกน้อยจึงเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยผลิตน้ำนมได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่เครียด ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา คอร์ติซอลจะไปขัดขวางการผลิตออกซิโทซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหล หากไม่มีออกซิโทซิน เต้านมจะไม่ได้รับการกระตุ้นและทำให้น้ำนมหยุดไหลได้ ดังนั้นคุณแม่ควรพยายามผ่อนคลาย และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ตึงเครียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- น้ำนมเกลี้ยงเต้า: ในการให้นมแต่ละครั้ง ทารกน้อยควรดื่มนมปริมาณที่มากพอและนานพอเพื่อให้น้ำนมเกลี้ยงเต้า พอเสร็จจากข้างหนึ่งคุณแม่อาจให้ดื่มนมจากเต้าอีกข้างหนึ่งต่อ การดื่มนมให้เกลี้ยงเต้าเป็นวิธีสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมาเรื่อย ๆ ลองนึกภาพว่าหากมีพื้นที่ให้ใส่น้ำนมน้อยลง ร่างกายก็จะไม่รู้สึกว่าต้องผลิตน้ำนมออกมาเติมเข้าไป ดังนั้นเมื่อลูกน้อยดูดนมจนเกลี้ยงเต้าข้างหนึ่งแล้ว ควรลองพยายามให้เขาดื่มอีกข้างหนึ่งต่อ หากลูกอิ่มตั้งแต่เต้าแรก คุณแม่อาจปั๊มนมจากเต้าอีกข้างหนึ่งมาสำรองไว้ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่ม คุณแม่จะเพิ่มปริมาณนมได้โดยการให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้าและปั๊มนมบ่อย ๆ
หากคุณแม่คงกังวลเรื่องปริมาณน้ำนมน้อยเกินไป ลองปรึกษาคุณหมอที่ดูแล หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมที่อาจให้คำแนะนำทางเลือกอื่น ๆ เช่นการนวดเต้านม การทานอาหารเสริม หรือการปรับอาหารให้เหมาะสมตามความต้องการของร่างกาย
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (10 พฤศจิกายน 2021)