อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงให้นมลูก
นมแม่
ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาหารชนิดไหนที่เป็นของ “ต้องห้าม” อย่างเด็ดขาดในช่วงให้นม แต่คุณแม่ที่กำลังให้นมลูกน้อยควรหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง ทั้งนี้ คุณแม่ควรทานอาหารแต่พอดีเพราะเป็นหัวใจหลักของโภชนาการในช่วงให้นม
อาหารที่ควรจำกัดปริมาณ นมแม่นั้นถูกกลั่นกรองในร่างกายของคุณแม่มาแล้ว ซึ่งแตกต่างจากช่วงตั้งครรภ์ที่คุณแม่ส่งต่อสารอาหารให้ลูกน้อยโดยตรงผ่านรก นั่นหมายความว่าสารอาหารบางอย่างที่คุณแม่ทานเข้าไปในช่วงให้นมอาจส่งไม่ถึงลูกเหมือนตอนตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณที่จำกัด
- ปลาขนาดใหญ่: DHA ที่พบในปลาต่าง ๆ ถือเป็นสารอาหารจำเป็นสำหรับพัฒนาการทางสมองของทารก อย่างไรก็ตาม ปลาบางชนิดนั้นมีปริมาณสารปรอทสูง เช่น ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่าตาโต และปลาฉลาม ดังนั้นควรทานปลาเหล่านี้ไม่เกิน 1-2 มื้อต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้ทารกได้รับสารพิษจากปรอทมากเกินไป
- แอลกอฮอลล์: คุณแม่สามารถดื่มแอลกอฮอลล์ได้เป็นครั้งคราว เช่น เบียร์หนึ่งกระป๋อง (350 มล.) หรือไวน์หนึ่งแก้ว (125 มล.) อย่างไรก็ตามควรรออย่างน้อย 3 ชั่วโมงหลังดื่มแอลกอฮอล์ก่อนให้นม เพื่อให้แอลกอฮอลล์หมดไปจากกระแสเลือดก่อน วิธีทำให้แน่ใจว่านมของคุณแม่ปราศจากแอลกอฮอลล์คือ คุณแม่สามารถให้นมลูกน้อยหรือปั๊มนมก่อนที่จะดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ จากนั้นข้ามการให้นมรอบต่อไป โดยให้ลูกน้อยดื่มนมแม่ที่เก็บสำรองไว้หรือดื่มนมผงแทน หากคุณแม่ได้ปั๊มนมระหว่างที่ปริมาณแอลกอฮอลล์ในกระแสเลือดสูง ควรทิ้งนมนั้นไปดีกว่า
- คาเฟอีน: ควรจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา และน้ำอัดลม เอาไว้ที่ไม่เกิน 300 มก. ต่อวัน โดยคร่าว ๆ คือปริมาณประมาณกาแฟหนึ่งแก้ว เครื่องดื่มชูกำลัง 1 กระป๋อง หรือชาหนึ่งแก้วต่อวัน
อาหารที่ยังเป็นที่ถกเถียงกัน
รสชาติของน้ำนมแม่จะเปลี่ยนไปตามรสชาติอาหารที่คุณแม่ทานเข้าไป ซึ่งลูกน้อยอาจจะชอบ หรือไม่ชอบรสชาติอาหารบางอย่าง ดังนั้นคุณแม่ควรลองสังเกตท่าทางที่ลูกน้อยแสดงออกมาตอนดื่มนมคุณแม่ทานอาหารบางประเภท เช่นอาการหงุดหงิด ท้องอืด หรือหน้าตาชอบใจเป็นพิเศษของลูกน้อย เพื่อดูว่าเขาชอบรสชาติอาหารแบบไหน
- อาหารรสเผ็ด: อาหารรสเผ็ดไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อย แต่อาจทำให้รสชาตินมแม่เปลี่ยนแปลงไปได้ หากคุณแม่ทานอาหารรสเผ็ดระหว่างที่ตั้งครรภ์ ทารกน้อยก็น่าจะเคยชินกับอาหารเผ็ด ๆ แล้ว และเขาก็อาจไม่รู้สึกว่ารสชาตินมแม่แปลกไป
- อาหารที่มีกลิ่นแรง: สมุนไพรบางชนิดที่มีกลิ่นรุนแรง เช่นกระเทียม หัวหอม ขมิ้น หรือโหระพาอาจช่วยเติมรสชาติให้นมแม่ได้ หากลูกน้อยมีอาการหงุดหงิดระหว่างการให้นม อาจเป็นเพราะกลิ่นเหล่านี้ก็ได้ หากลูกมีอาการนี้คุณแม่อาจลองเปลี่ยนให้ลูกดื่มนมจากเต้าอีกข้างหนึ่ง และดูว่าลูกยังไม่อยากกินอยู่ไหม หากลูกไม่อยากดื่มนมจากอีกข้างหนึ่ง อาจเป็นเพราะกลิ่นของนมที่เปลี่ยนไป แต่หากลูกน้อยดื่มนมจากเต้าอีกข้างหนึ่งได้ปกติ ก็อาจเป็นเพราะลูกเข้าเต้าไม่ถูกต้อง หรือนมไหลช้าเกินไปในจากข้างแรก
- อาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้: โดยปกติแล้วสารที่ทำให้เกิดการแพ้ที่พบในนมวัว ถั่ว หรือไข่นั้นเล็ดลอดเข้าไปในนมแม่ได้น้อยมาก ในสถานการณ์ทั่วไปสารที่ทำให้แพ้จะมีปริมาณน้อย และแทบไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ทารกเกิดอาการแพ้ได้ หากคุณแม่ไม่แน่ใจเรื่องอาการแพ้ของลูกน้อย ให้ปรึกษาคุณหมอ หรือนักโภชนาการก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการทานอาหาร
- ผักที่ทำให้ท้องอืด: กะหล่ำ บร็อคโคลี ถั่วต่าง ๆ และผักตระกูลกะหล่ำมักจะทำให้ท้องอืดได้ง่าย หากลูกน้อยมีอาการท้องอืด หรือร้องไห้ไม่หยุดหลังจากคุณแม่ทานอาหารเหล่านี้ ลองหยุดทานอาหารนี้ประมาณสองสามสัปดาห์และลองดูว่าอาการเหล่านี้ยังอยู่หรือไม่
เพื่อให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดี คุณแม่ควรทานอาหารให้หลากหลายในระหว่างที่ให้นมเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน นอกจากนี้ อาหารที่หลากหลายจะช่วยให้ลูกน้อยเริ่มทานอาหารได้ง่ายขึ้นเมื่อถึงเวลาที่ลูกพร้อม ดังนั้นคุณแม่ควรทานอาหารให้หลากหลาย นอกเสียจากว่าคุณหมอหรือนักโภชนาการแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดเท่านั้น
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (17 พฤศจิกายน 2021)