เทคนิคการเพิ่มน้ำนมสำหรับคุณแม่
นมแม่
การเพิ่มน้ำนมนั้นมีหลากหลายความเชื่อและความเข้าใจที่ผิด ๆ มากมาย จริง ๆ แล้วการเพิ่มน้ำนมนั้นคุณแม่ควรเริ่มจากการเข้าเต้าอย่างถูกวิธี และให้นมลูกน้อยบ่อย ๆ
ทำไมคุณแม่อาจมีน้ำนมน้อย
เพื่อให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่อไปนี้ที่ทำให้น้ำนมมีปริมาณน้อยลง
- การเข้าเต้าไม่ถูกวิธี: เมื่อทารกน้อยไม่สามารถดูดนมออกจากเต้าคุณแม่ได้มากพอ ร่างกายของคุณแม่ก็จะผลิตน้ำนมน้อยกว่าที่ควรจะผลิตได้
- การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอลล์: การเสพยาเสพติดส่งผลให้กลไกการหลั่งน้ำนมลดลง และทำให้การให้นมติดขัดได้
- ภาวะเครียด: อาการเครียดหรือความเหนื่อยล้าอาจทำให้น้ำนมหมดเร็วขึ้น เนื่องจากจะไปรบกวนการผลิตนมแม่
- การให้ลูกดื่มนมจากขวดนม: หากคุณแม่ให้ลูกน้อยดื่มนมผง ลูกก็จะดื่มนมจากแม่น้อยลงตามธรรมชาติ และร่างกายของคุณแม่ก็จะส่งสัญญาณให้ผลิตน้ำนมน้อยลงตามไปด้วย
- การให้นมที่ไม่สม่ำเสมอ: หากคุณแม่เว้นระยะห่างการให้นมมากกว่า 4 ชั่วโมง หรือให้นมลูกน้อยไม่สม่ำเสมอ ก็อาจกระทบกระบวนการผลิตนมได้
วิธีการเพิ่มปริมาณการผลิตนม
สิ่งที่คุณแม่ควรทำอย่างแรกคือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมน้อยลงตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น หากทำตามคำแนะนำทั้งหมดแล้วแต่ยังอยากให้ปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น คุณแม่สามารถปฏิบัติตามเทคนิคต่อไปนี้ได้เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม
วิธีธรรมชาติ
- ดื่มน้ำ: สิ่งที่สำคัญที่สุดในการให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้เพียงพอคือคุณแม่ต้องดื่มน้ำให้บ่อย ๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- ให้ลูกน้อยดื่มนมจากเต้าทั้งสองข้างบ่อย ๆ : ควรให้นมลูกน้อยดูดนมบ่อยและนานเท่าที่ลูกต้องการ โดยไม่ต้องกำหนดตารางเวลาชัดเจน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนมได้เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย ทั้งนี้ ควรดูให้แน่ใจว่าลูกน้อยดื่มนมจนเกลี้ยงเต้าทั้งสองข้าง หากลูกน้อยดื่มนมเพียงข้างเดียวแล้วไม่ดื่มต่อ คุณแม่ควรใช้ที่ปั๊มนมแบบปั๊มมือ หรือที่ปั๊มนมไฟฟ้าปั๊มนมอีกข้างหนึ่งเก็บไว้ โดยใช้เวลาในการปั๊มนมเท่ากับเวลาที่ลูกน้อยดูดนม
- การปั๊มนม: อีกวิธีหนึ่งที่จะบอกให้ร่างกายรู้ว่าควรผลิตน้ำนมเพิ่มคือ ควรปั๊มนมต่อ 5-10 นาทีหลังจากให้นมลูกน้อยเสร็จแล้ว หากคุณแม่ปั๊มนมเป็นหลัก คุณแม่อาจลดระยะห่างระหว่างการปั๊มนมแต่ละครั้ง เช่นจากเว้น 3 ชั่วโมง ก็ลดลงเหลือ 2 ชั่วโมง หรือคุณแม่อาจปั๊มนมให้นานขึ้น เช่นจากเดิมปั๊ม 20 นาทีก็เพิ่มเป็น 30 นาที
- การนวดเต้านม: ผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่หลายคนแนะนำให้ใช้การนวดเต้านมโดยใช้แรงกดที่เต้านมขณะที่ทารกกำลังดูดนมอยู่ การนวดเต้านมแบบนี้ทำได้โดยใช้นิ้วกดลงบนเต้านมข้างนั้น ๆ ในขณะที่ลูกน้อยกำลังเริ่มดูดนม จากนั้นให้ปล่อยแรงกดเมื่อเห็นว่าลูกน้อยกำลังกลืนนมอยู่ การใช้แรงกดจะช่วยให้นมไหลออกมามากขึ้น และกระตุ้นให้ทารกดูดนมต่อไปเมื่อนมไหลช้าลง
อาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยในการผลิตน้ำนม
อาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยเพิ่มหรือกระตุ้นการหลั่งน้ำนมมีชื่อเรียกว่า galactagogues (กะแลคทะกอก) โดยอาหารเหล่านี้มีรูปแบบและรสชาติที่หลากหลาย โดยแต่ประเภทก็มาจากความเชื่อจากวัฒนธรรมต่าง ๆ
- คุกกี้กระตุ้นน้ำนม: ในวัฒนธรรมตะวันตก ผู้คนนิยมทำคุกกี้ที่มีส่วนประกอบของข้าวโอ๊ต หรือเมล็ดแฟลกซ์ ซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นการหลั่งน้ำนม โดยใส่บรรจุภัณฑ์ที่ทานสะดวกและใช้ชื่อว่าคุกกี้กระตุ้นน้ำนม
- สมุนไพร: แพทย์แผนจีนโบราณเชื่อว่าการดื่มน้ำร้อนที่ต้มกับสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เช่น ขิงและกะเพราจะช่วยเพิ่มการผลิตน้ำนมได้ นอกจากนี้น้ำซุปต้มกระดูกหมูที่ผ่านการเคี่ยวนาน ๆ ก็นับเป็นอาหารประจำสำหรับคุณแม่ให้นม
- ผักและผลไม้: ในประเทศไทย ผู้คนนิยมดื่มน้ำหัวปลี หรือทำซุปใส่หัวปลี นอกจากนี้เชื่อกันว่าอาหารที่มีลูกพลับก็ช่วยเพิ่มน้ำนมแม่ได้
ถึงแม้ว่าลูกน้อยจะเข้าเต้าอย่างถูกต้อง แต่ในบางสถานการณ์ร่างกายของคุณแม่ก็อาจผลิตน้ำนมได้ไม่เต็มที่ ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากปัญหาทางสรีระ หรืออาจเกิดจากความเจ็บป่วยของร่างกาย หากคุณแม่คิดว่าตัวเองมีปัญหาเหล่านี้ แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยประเมินความต้องการ เสนอแนะวิธีรักษา และวิธีปรับการใช้ชีวิตให้คุณแม่ได้
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (10 พฤศจิกายน 2021)