อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 9
อาการคนท้องรายสัปดาห์
ในสัปดาห์นี้ อวัยวะภายในของลูกเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว และในการพบคุณหมอครั้งถัดไป คุณแม่จะได้ยินเสียงหัวใจของลูกเต้นอีกด้วย
คุณแม่อาจรู้สึกเหนื่อยง่ายและอ่อนเพลียได้ เพราะร่างกายของคุณแม่กำลังใช้พลังงานอย่างมากเพื่อสร้างรกอยู่ในตอนนี้
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ในสัปดาห์นี้ กล้ามเนื้อมัดสำคัญ ๆ และอวัยวะบางส่วนของลูกกำลังเริ่มพัฒนา ในตอนนี้เขามีความยาวประมาณ 23 มม.หรือประมาณผลองุ่น
อวัยวะบางส่วนเช่น ตับ ไต ปอด และสมองของลูกพร้อมที่จะทำงานแล้วในสัปดาห์นี้ ปุ่มรับรสที่ลิ้นของเขากำลังพัฒนาอยู่ ในขณะที่หูเล็ก ๆ ทั้งสองข้างก็เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นแต่ยังไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องนัก แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลเพราะหูจะเคลื่อนที่ไปอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องในเร็ว ๆ นี้
อวัยวะเพศ: ถึงแม้ว่าในสัปดาห์นี้ การอัลตร้าซาวด์จะยังไม่สามารถบอกเพศของลูกได้ แต่อวัยวะเพศของเขาได้เริ่มมีการพัฒนาแล้ว อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าคุณแม่ก็จะทราบเพศของลูกได้แล้ว
นิ้วมือ: นิ้วมือและนิ้วเท้าที่ถูกเชื่อมด้วยพังผืด ตอนนี้พัฒนาจนสามารถเห็นเป็นรูปนิ้วได้ชัดเจนมากขึ้น และในปลายสัปดาห์นี้เนื้อเยื่อกระดูก หรือ Bone tissue บริเวณช่วงแขนจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการสร้างกระดูกหรือที่ในทางการแพทย์เรียกว่า Ossification
หัวใจ: หัวใจของลูกได้เริ่มทำงานบ้างแล้ว และในสัปดาห์นี้ลิ้นหัวใจก็กำลังก่อตัวขึ้นทำให้หัวใจถูกแบ่งออกเป็นห้อง ๆ อย่างชัดเจน ซึ่งในตอนนี้เครื่อง Fetal doppler หรือ เครื่องฟังเสียงหัวใจของทารก สามารถตรวจจับการเต้นของหัวใจของลูกได้แล้ว
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
รกกำลังพัฒนาเพื่อทำหน้าที่ขนส่งสารอาหารที่สำคัญให้แก่ลูก จึงอาจทำให้คุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย และยังอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดและความดันของคุณแม่ต่ำลง ในขณะที่ปริมาณฮอร์โมนและอัตราการเผาผลาญเพิ่มสูงขึ้น
การเติบโตของมดลูก: ในตอนนี้ มดลูกของคุณแม่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นเท่าตัว น้ำหนักอาจตัวเพิ่มขึ้นด้วย แต่คุณแม่ก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ การที่คุณแม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมา 0.5-2.0 กก. นั้นถือเป็นเรื่องปกติมาก
กรดไหลย้อน: คุณแม่อาจมีอาการแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อน รวมไปถึงอาการท้องผูกได้
แต่อาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการปกติที่สามารถพบได้ในช่วงเดือนที่สองของการตั้งครรภ์
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
ในกรณีที่คุณแม่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปหรือคุณพ่อมีอายุมากหรือคนในครอบครัวมีประวัติเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรมมาก่อน คุณแม่อาจเริ่มปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการตรวจหาโรคทางพันธุกรรม โดยปกติแล้วการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมนั้นสามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป
การหลีกเลี่ยงอาหารมันและอาหารรสเผ็ดสามารถช่วยป้องกันอาการกรดไหลย้อนได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น คุณแม่สามารถทานยาลดกรด หรือที่เรียกว่า Antacid เพื่อช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน
คุณแม่ควรรีบไปห้องน้ำทันทีที่รู้สึกปวดปัสสาวะ เพราะการกลั้นปัสสาวะอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อลำไส้อ่อนแอลง และส่งผลต่อการบีบตัวของลำไส้ซึ่งอาจทำให้ท้องผูกได้
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)