เกลือ
เมนูลูกรัก
โดยทั่วไปแล้ว เกลือมักใช้ในการปรุงรสหรือถนอมอาหาร เมื่อเกลือเข้าสู่ร่างกาย เกลือจะแยกออกเป็นโซเดียมและคลอไรด์ไอออน การได้รับเกลือมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเด็กอายุยังน้อยควรรับประทานเกลือเพียงเล็กน้อยหรือไม่ทานเลย
เด็กต้องการเกลือปริมาณมากแค่ไหน?
ปกติแล้ว เด็กอายุยังน้อยต้องการเกลือไม่มากในโภชนาการของเขา แต่มันเป็นเรื่องง่ายที่จะบริโภคเกลือมากเกินไปเนื่องจากในอาหารเกือบทุกชนิดที่คุณแม่ซื้อจะมีเกลือเป็นส่วนผสมอยู่แล้ว เช่น ขนมปังและบิสกิต สำหรับเด็กทารกควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการให้บริโภคเกลือ เพราะจะก่อให้เกิดผลเสียต่อไตได้
ปริมาณเกลือสูงสุดที่แนะนำในการบริโภคสำหรับทารกและเด็กมีดังนี้:
- อายุต่ำกว่า 12 เดือน: น้อยกว่า 1 กรัมต่อวัน (โซเดียมน้อยกว่า 0.4 กรัม)
- 1 – 3 ปี: 2 กรัมต่อวัน (โซเดียม 0.8 กรัม)
- 4 – 6 ปี: 3 กรัมต่อวัน (โซเดียม 1.2 กรัม)
- 7 – 10 ปี: 5 กรัมต่อวัน (โซเดียม 2 กรัม)
- 11 ปีหรือมากกว่า: 6 กรัมต่อวัน (โซเดียม 2.4 กรัม)
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับเกลือ
ทารกน้อยที่ดื่มน้ำนมแม่ได้จะรับเกลือในปริมาณที่เหมาะสมผ่านน้ำนม ส่วนทารกที่ดื่มนมผงก็ได้รับเกลือในปริมาณที่ใกล้เคียงกับน้ำนมแม่เช่นกัน เมื่อคุณแม่เริ่มให้ลูกน้อยรับประทานอาหารแข็ง ไม่ควรให้เขาทานอาหารสำเร็จรูปที่ไม่ได้ปรุงมาเพื่อทารกโดยเฉพาะ เนื่องจากอาหารเหล่านั้นโดยส่วนใหญ่แล้วมีปริมาณเกลือสูง วิธีเลือกง่าย ๆ คือให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือมากกว่า 0.6 กรัมต่อปริมาณ 100 กรัม ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูง
สามารถหาปริมาณเกลือในอาหารได้โดยการคูณปริมาณของโซเดียมด้วยเลข 2.5 ตัวอย่างเช่น โซเดียม 1 กรัมต่อ 100 กรัม เท่ากับปริมาณเกลือ 2.5 กรัมต่อ 100 กรัม
อาหารที่มีส่วนผสมของเกลือ
อาหารต่อไปนี้โดยทั่วไปแล้วมีส่วนผสมของเกลือ:
- ขนมปัง
- เบคอน
- ไส้กรอก
- มันฝรั่งทอดที่ใส่เกลือ
- แครกเกอร์
- มันฝรั่งทอดกรอบ
- ซอสบรรจุขวด
- อาหารปรุงพร้อมซื้อกลับบ้าน
- อาหารชนิดอุ่นรับประทานจากไมโครเวฟ
- พายเนื้อ
- ถั่วอบเกลือ
- ป๊อปคอร์นปรุงรส
- ชีสแท่งแปรรูป
- นักเก็ตไก่
- แซนวิช Vegemite
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
การบริโภคเกลือมากเกินไปส่งผลเสียต่อเด็กอย่างไร
การรับประทานเกลือมากเกินไปเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงในเด็กอายุน้อยและวัยรุ่น ผลกระทบนี้มีความร้ายแรงขึ้นในเด็กที่มีโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน เด็กที่ทานอาหารซึ่งมีเกลือเป็นส่วนประกอบสูงมักมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าเด็กที่ทานอาหารโซเดียมต่ำเกือบ 40 เท่า นอกจากนี้แล้ว ภาวะความดันโลหิตสูงในวัยเด็ก ยังมีความเชื่อมโยงกับภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจในผู้ใหญ่อีกด้วย
สามารถลดปริมาณการบริโภคเกลือในเด็กได้อย่างไร
- กินอาหารเพื่อสุขภาพ เลือกอาหารสดและไม่แปรรูป เช่น ผลไม้, ผัก, ปลาสดและไก่
- แทนที่จะใช้เกลือ เลือกใช้ น้ำมะนาว, กระเทียม, น้ำส้มสายชูและสมุนไพรต่าง ๆ ในการปรุงรสแทน
- ไม่วางกระปุกใส่เกลือที่โต๊ะอาหารและควรเก็บให้ห่างไกลจากสายตาของเด็ก
- ให้ร้านอาหารปรุงอาหารโดยใช้เกลือในปริมาณน้อย
- หลีกเลี่ยงอาหารขยะเพราะโดยส่วนใหญ่อาหารเหล่านี้มีปริมาณเกลือสูง
- ลดการใช้น้ำเกรวี่, ซีอิ๊ว, ซุปก้อนและซอสบรรจุขวด
เมื่อลูกน้อยอายุครบสองขวบหรือมากกว่า และสามารถรับประทานเกลือได้มากกว่าเดิม คุณแม่สามารถให้เขารับประทานอาหารว่างแบบเค็มได้ในบางโอกาส เช่น วันหยุดสุดสัปดาห์ หรือในโอกาสพิเศษ
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (22 กรกฎาคม 2021)