ข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสิ่งที่ควรรู้
นมแม่
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิธีที่สุดสำหรับทารกในการได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนสำหรับพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรง และเป็นวิธีที่ดีมากวิธีหนึ่งสำหรับการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่และลูกน้อย
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวจนอายุครบ 6 เดือน และหลังจากนั้นสามารถให้นมแม่ร่วมกับอาหารหลักเพื่อเสริมโภชนาการจนถึงอายุ 2 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ ในยุคปัจจุบันที่คุณแม่ส่วนใหญ่นั้นต้องทำงานด้วย การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอาจเป็นไปได้ยาก ต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกวิธีให้นมลูกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคน
ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- ป้องกันการติดเชื้อและภาวะอื่น: ในน้ำนมของคุณแม่มีสารอาหารที่สำคัญและมีประโยชน์กับระบบภูมิคุ้มกันของลูกน้อยอยู่มาก และยังมีภูมิต้านทาน ซึ่งสำคัญมากในช่วง 3 เดือนแรกของชีวิต เพราะเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง และนมแม่ยังช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นโรคภูมิแพ้ในอนาคตได้อีกด้วย
- มีโภชนาการที่ดี: ในนมแม่ยังมีวิตามินและแร่ธาตุอีกหลายชนิดที่ทารกแรกเกิดต้องการเพื่อการเจริญเติบโตที่แข็งแรง แต่หากคุณแม่ไม่สามารถให้นมได้ ไม่ต้องเป็นกังวลเพราะนมผงสำหรับทารกนั้นก็เป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับเจ้าตัวน้อยได้ดีเช่นกัน
- ย่อยง่าย: ส่วนประกอบของนมแม่คือแลคโตส โปรตีน และไขมัน ซึ่งย่อยง่ายและลดโอกาสเกิดอาการท้องร่วงหรือท้องผูกลงได้
- สายสัมพันธ์ที่แข็งแรง: การได้อุ้มลูกแนบเนื้อระหว่างให้นมเป็นวิธีสร้างสายสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างแม่และลูกได้ดีมาก และการกอดเป็นวิธีที่ช่วยให้ทารกสงบได้เป็นอย่างดี
- น้ำหนักหลังคลอดลงเร็วกว่า: คุณแม่ที่ให้นมนั้นเผาผลาญพลังงานเพิ่มมากขึ้นถึง 200-500 แคลลอรี่ต่อวัน และการดูดนมของลูกจะช่วยกระตุ้นให้มดลูกหดคืนรูปเร็วขึ้น
- ลดความเสี่ยงของการเกิดโรค: มีวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการให้นมลูกนั้นลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคระบบโลหิตต่าง ๆ โรคมะเร็งรังไข่ และมะเร็งปากมดลูก
- รสชาติที่แตกต่างกันทุกวัน: ทารกที่กินนมแม่จะได้รับรสชาติที่ผันเปลี่ยนไปตามอาหารที่คุณแม่รับประทาน ทารกที่กินนมแม่จะสามารถรับประทานอาหารแข็งได้ง่ายขึ้นเมื่อถึงเวลา
ความท้าทายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- เวลาและความถี่ของการให้นม: การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้น เมื่อลูกต้องกินนมบ่อย ๆ ทุก ๆ 2 หรือ 3 ชั่วโมง ซึ่งอาจไม่สะดวกสำหรับคุณแม่ที่ต้องออกไปทำงาน หรือเดินทางไปที่อื่น
- อาหาร: คุณแม่ที่ให้นมจะต้องคำนึงถึงการบริโภคของตนเองเป็นอย่างมาก เพราะอาหารเหล่านั้นสามารถส่งผ่านไปยังลูกน้อยทางน้ำนมได้ คุณแม่ควรเลี่ยงปลาที่มีสารปรอทสูงและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการรับประทานแคลเซียมที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกเพื่อการเจริญเติบโตที่แข็งแรง
- ความเจ็บปวด: การให้นมในช่วงแรกคุณแม่อาจจะเจออาการหัวนมแตก แต่ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นหลัง 1 ถึง 2 สัปดาห์
ไม่ว่าคุณแม่จะเลือกวิธีการให้นมลูกแบบไหน จำไว้ว่าการสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแรงนั้นสำคัญที่สุด มีคุณแม่หลายคนที่ไม่สามารถให้นมลูกได้เนื่องจากปัญหาทางร่างกาย หรือความจำเป็นบางอย่าง เพียงแค่มอบความรักและความใส่ใจให้ลูกน้อยอยู่เสมอ ก็สามารถทำให้ลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างแข็งแรงและมีความสุขได้
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (10 พฤศจิกายน 2021)