เมื่อการให้นมลูกรู้สึกว่ายาวนานมาก
นมแม่
ในช่วงสองสามสัปดาห์แรกหลังคลอด เด็กทารกมักง่วงนอนง่าย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ทารกน้อยอาจเผลอหลับระหว่างการให้นม
ตัวอย่างต่อไปนี้คือสถานการณ์ที่มักเกิดขึ้นกับคุณแม่และทารกน้อยหลาย ๆ คู่
ลูกน้อยดูดนมนานเกินไป
หากลูกน้อยใช้เวลาดูดนมนานกว่า 50 นาที แต่ลูกยังดูดอยู่ นี่อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าทารกได้รับนมไม่เพียงพอ ซึ่งอาจมีสาเหตุดังนี้
- ลูกดูดนมไม่ถูกวิธี: บางครั้งหากทารกดูดนมไม่ถูกวิธี แต่ยังฝืนดูดไปเรื่อย ๆ อาจทำให้การให้นมในแต่ละครั้งใช้เวลายาวนานมาก ในครั้งหน้าหากสังเกตเห็นว่าลูกน้อยเริ่มดูดนมช้าลง หรือไม่กลืนคุณแม่อาจลองสลับท่า หรือเปลี่ยนเต้านมไปอีกข้างหนึ่งดู
- ปัญหาความผิดปกติทางสรีระ: บางครั้งทารกก็อาจมีปัญหาความผิดปกติที่ลิ้น เช่นภาวะลิ้นติดในทารก ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการดูดนมลดลงได้ หากคุณแม่คิดว่าลูกน้อยเข้าเต้าถูกวิธีแล้ว แต่ลูกยังดูหิวหลังการให้นมทุกครั้ง หรือคุณแม่ยังรู้สึกเจ็บคัดเต้านมอยู่ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นม หรือปรึกษาคุณหมอเพื่อช่วยหาสาเหตุของปัญหาต่อไป
ทารกน้อยนอนหลับคาเต้านม
หากลูกน้อยเริ่มดื่มนมอย่างกระปรี้กระเปร่า แต่ผล็อยหลับอย่างรวดเร็วระหว่างการให้นม คุณแม่อาจลองเทคนิคต่อไปนี้
- กระตุ้นลูกน้อยอย่างอ่อนโยน: เมื่อคุณแม่สังเกตว่าลูกเริ่มผล็อยหลับ ให้ปลุกเขาโดยการอุ้มเรอ จั๊กจี้เท้า หรือพูดคุยกับลูกน้อยเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้เขาดูดนมต่อไป
- น้ำนมไหลช้า: อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกหลับอาจเป็นเพราะน้ำนมไหลออกช้า หากคุณแม่สงสัยว่ามีปัญหานี้ ลองสลับให้ลูกไปดื่มนมจากเต้าอีกข้างหนึ่ง หากลูกน้อยดูพึงพอใจและไม่อยากดูดนมอีกข้างต่อ จากนั้นก็นอนหลับ นั่นอาจเป็นเพราะเขาอิ่มแล้วจริง ๆ
ในช่วงเดือนแรกหลังคลอด คุณแม่อาจรู้สึกว่าต้องให้นมลูกอย่างไม่หยุดหย่อน หลังการให้นมแต่ละครั้งคุณแม่อาจรู้สึกเหมือนเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่นาที จากนั้นลูกน้อยก็หิวอีกแล้ว การให้นมแต่ละครั้งอาจใช้เวลา 20-40 นาที และทารกน้อยก็อาจหิวทุก ๆ 1 – 2 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติและจะเป็นแบบนี้เพียงช่วงแรก ๆ เท่านั้น เมื่อร่างกายของคุณแม่เริ่มปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของลูกได้ และลูกน้อยเริ่มเรียนรู้ที่จะดูดนมได้อย่างถูกวิธี ทุกอย่างก็จะเริ่มง่ายขึ้นเอง
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (10 พฤศจิกายน 2021)