ผลกระทบของรอบเดือนต่อคุณภาพของการนอน
ทุกคนต่างมีรูปแบบการนอนเป็นของตัวเอง ในผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบเดือนอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการนอน
ทุกคนต่างมีรูปแบบการนอนเป็นของตัวเอง ในผู้หญิง การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบเดือนอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการนอน
รอบเดือนและการนอนของคุณ
รอบเดือนแบ่งออกเป็นหลายช่วง ได้แก่ระยะที่มีประจำเดือน ระยะฟอลลิคิวลาร์ (follicular phase) ระยะตกไข่ และระยะสุดท้ายคือระยะลูเทียล (luteal phase) โดยระดับฮอร์โมนจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง ซึ่งอาจส่งผลต่อการนอนหลับได้
1. ระยะที่มีประจำเดือนและระยะฟอลลิคิวลาร์
ในช่วงแรกของการมีประจำเดือน โปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนจะอยู่ในระดับต่ำ ช่วงนี้คุณอาจนอนหลับได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้นเนื่องจากหากฮอร์โมนสองชนิดนี้อาจรบกวนการนอนหลับได้เมื่อมีปริมาณสูง อย่างไรก็ตามความไม่สบายตัวจากอาการต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับประจำเดือนเช่นปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้องก็อาจส่งผลลบต่อการนอนหลับได้
2. ระยะตกไข่
การตกไข่มักเกิดขึ้นประมาณกลางรอบเดือน ในช่วงนี้เอสโตรเจนจะสูงขึ้นมากและลดลงอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา ผู้หญิงบางคนอาจรู้สึกว่าการนอนมีคุณภาพลดลงหรือรูปแบบการนอนเปลี่ยนไปในช่วงที่เกิดการตกไข่ได้เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
3. ระยะลูเทียล
ในระยะลูเทียล ร่างกายจะเพิ่มการผลิตโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่อาจทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า และอาจรบกวนรูปแบบการนอนหลับในผู้หญิงบางคนได้ โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของระยะลูเทียลที่ระดับโปรเจสเตอโรนขึ้นสูงที่สุด
4. ช่วงก่อนมีประจำเดือนและช่วงมีประจำเดือน
ช่วงใกล้มีประจำเดือนระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะลดต่ำลง ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการก่อนมีประจำเดือนหรือ PMS (premenstrual syndrome) ซึ่งอาจมีอาการท้องอืด อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจรบกวนการนอนหลับได้
วิธีเพิ่มคุณภาพการนอนหลับตลอดรอบเดือน
เมื่อรู้แล้วว่ารอบเดือนอาจส่งผลต่อการนอน นี่คือคำแนะนำที่อาจช่วยเพิ่มคุณภาพในการนอนของคุณได้:
- ทำกิจวัตรการนอนแบบเดิมอย่างสม่ำเสมอ: ควรเข้านอนและตื่นเวลาเดิมทุกวันเพื่อปรับเวลาของนาฬิกาภายในร่างกายและช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
- ทำกิจวัตรที่ผ่อนคลายก่อนนอน: เช่นอาจอ่านหนังสือ อาบน้ำอุ่น หรือฝึกผ่อนคลายรูปแบบต่าง ๆ
- จำกัดปริมาณคาเฟอีนและแอลกอฮอลล์: ทั้งสองอย่างนี้อาจรบกวนรูปแบบการนอนหลับ ดังนั้นจึงควรจำกัดปริมาณ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของรอบเดือน
- เคลื่อนไหวร่างกาย: การทำกิจกรรมทางกายบ่อย ๆ จะช่วยให้คุณนอนหลับได้เร็วและหลับลึกมากขึ้น
ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอน
การตอบสนองอย่างรุนแรงต่อฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดรอบเดือนอาจทำให้อาการของความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนรุนแรงมากขึ้น เช่นโรคนอนไม่หลับ (insomnia) หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนบ่อยครั้ง ควรปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์เกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ที่เป็นอยู่
การทำความเข้าใจผลกระทบของรอบเดือนต่อการนอนจะช่วยให้คุณมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนให้ดีขึ้น ช่วยสนับสนุนสุขภาพโดยรวมและภาวะเจริญพันธุ์สำหรับคนที่อยากมีลูกได้ ร่างกายของผู้หญิงแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างกัน และสิ่งที่ได้ผลกับคุณจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละบุคคล หากปัญหาในการนอนไม่หายไปควรขอคำแนะนำจากผู้ให้บริการทางการแพทย์
รับรองโดย:
นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 กรกฎาคม 2023)
ที่มา:
- PMS and Insomnia, National Sleep Foundation
- Can the menstrual cycle affect people's sleep and dreams? Live Science
- Menstrual Cycle Effects on Sleep, National Library of Medicine
- Breus, Michael, PhD. The Power of When: Discover Your Chronotype—and the Best Time to Eat Lunch, Ask for a Raise, Have Sex, Write a Novel, Take Your Meds, and More. Little, Brown Spark, 2016.