ท่านวดนม และเทคนิคเพิ่มน้ำนม
![ท่านวดนม และเทคนิคเพิ่มน้ำนม](https://mali.me/wp-content/uploads/fly-images/271542/breast-massage-1000x566-c.jpg)
คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจมีปัญหาน้ำนมไม่พอ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การเข้าเต้าไม่ถูกวิธี, ภาวะเครียด หรือการให้นมที่ไม่สม่ำเสมอ หากคุณแม่มีน้ำนมไม่เพียงพอ อาจทำให้ไม่สามารถให้นมลูกน้อยต่อได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่หลายคนจึงแนะนำเทคนิคการนวดนมแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมแม่ โดยท่านวดเต้านมจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ช่วยสลายน้ำนมที่เกาะเป็นก้อนในท่อน้ำนม ดังนั้นจึงช่วยในการกระตุ้นการผลิตน้ำนม และแก้ปัญหาน้ำนมน้อยได้
ท่านวดนมอย่างง่าย ๆ ที่คุณแม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
ด้านล่างนี้คือท่านวดนม 3 ท่า ที่คุณแม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองเพื่อช่วยเพิ่มการผลิตน้ำนมได้
1. ท่านวดนมวอร์มอัพ
ท่านี้จะช่วยให้หน้าอกอุ่นขึ้น และช่วยให้น้ำนมไหลออกมาได้ดีขึ้น ทำได้โดยใช้ข้อนิ้วหรืออุ้งมือในการนวดโดยเคลื่อนไหวเป็นวงกลมบริเวณหน้าอก จากนั้นให้เปลี่ยนไปนวดอีกข้างหนึ่ง ทำซ้ำจนกว่าเต้านมจะรู้สึกนุ่มขึ้น โดยปกติแล้วการนวดท่านี้ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 นาที
2. ท่านวดหัวนมและบริเวณลานหัวนม
ท่านี้จะช่วยให้หัวนมและลานหัวนมของคุณแม่อ่อนนุ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้น้ำนมไหลออกมาได้ดี ทำได้โดยใช้นิ้วมือ 2 – 3 นิ้ววางใต้หัวนม จากนั้นใช้นิ้วโป้งกดจากด้านบน แล้วคลึงเป็นวงกลมคล้ายกับท่าวอร์มอัพ นวดจนกว่าหัวนมจะรู้สึกนุ่มลง จากนั้นให้นวดลานหัวนมด้วยวิธีเดียวกันจนกว่าลานหัวนมจะรู้สึกนุ่มลงเช่นกัน
3. ท่านวดกระตุ้นน้ำนม
เริ่มจากทำมือเป็นรูปตัว C โดยให้นิ้วโป้งอยู่บริเวณหัวนม และให้นิ้วชี้อยู่ด้านล่าง ใช้อีกสามนิ้วที่เหลือยกเต้านมขึ้น จากนั้นใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งกดที่ลานหัวนม จากนั้นขยายมือออกเพื่อให้บริเวณหัวนมยืดออก ทำซ้ำ ๆ บริเวณลานหัวนม ท่านี้จะช่วยลดการอุดตันของท่อน้ำนมได้ คุณแม่สามารถประคบร้อนที่เต้านมโดยใช้แรงกดเป็นวงกลมเพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำนมได้อีกด้วย
ท่านวดเต้านมเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อช่วยผ่อนคลาย และช่วยเตรียมเต้านมให้พร้อมต่อการให้นมลูกน้อยย อย่างไรก็ตามหากคุณแม่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมเรื่องการบรรเทาความเจ็บปวด อย่าลังเลที่จะปรึกษานักบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่โดยตรง
นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถหาตัวช่วยเพิ่มเติมด้วยการดาวน์โหลดแอพ Mali ซึ่งมีข้อมูลที่ได้รับการรับรองจากแพทย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการให้นมลูก และการดูแลลูกน้อยตามพัฒนาการ โดยสามารถดาวน์โหลดแอพ Mali ได้ทั้งทาง iOS และ Android ต่อไปนี้ คือวิธีธรรมชาติอีกมากมายที่จะช่วยเพิ่มน้ำนมให้กับคุณแม่ได้
วิธีเพิ่มน้ำนมตามธรรมชาติ แก้ปัญหาน้ำนมน้อย
เป็นที่รู้กันว่านมแม่มีประโยชน์มากมายต่อลูกน้อย แต่คุณแม่หลายคนพบกับปัญหาน้ำนมน้อยซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการให้นม นอกจากการนวดนม เพื่อเพิ่มน้ำนมแม่แล้ว คุณแม่ยังสามารถปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มน้ำนมแม่ตามธรรมชาติได้
- ให้นมลูกบ่อย ๆ : ร่างกายของคุณแม่จะยังไม่ผลิตน้ำนมจนกว่าจะถึง 3-5 วันหลังการคลอด อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรเริ่มกระตุ้นการผลิตน้ำนมหลังคลอดทันที เพื่อให้มีน้ำนมไหลในสองสามวันต่อมา พยายามให้นมลูกน้อยบ่อย ๆ โดยในช่วงสองสามเดือนแรกควรให้นมลูกทุก 2 – 3 ชั่วโมง หากทารกยังดูดไม่เก่ง คุณแม่อาจกระตุ้นการผลิตน้ำนมโดยใช้เครื่องมืออื่น ๆ เช่นการบีบน้ำนมด้วยมือ, การใช้เครื่องปั๊มนมด้วยมือ หรือใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้า คุณแม่ควรให้นมลูกน้อยบ่อย ๆ ทุกครั้งที่ลูกต้องการ และให้นมเป็นเวลานานเท่าที่ลูกอยากดื่ม โดยไม่ต้องกำหนดตารางเวลาชัดเจน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะจะช่วยให้ร่างกายคุณแม่ผลิตน้ำนมได้เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย ทั้งนี้ ควรดูให้แน่ใจว่าลูกน้อยดื่มนมจนเกลี้ยงเต้าทั้งสองข้าง หากลูกน้อยดื่มนมเพียงข้างเดียวแล้วไม่ดื่มต่อ คุณแม่ควรใช้ที่ปั๊มนมแบบปั๊มมือ หรือที่ปั๊มนมไฟฟ้าปั๊มนมอีกข้างหนึ่งเก็บไว้ โดยใช้เวลาในการปั๊มนมเท่ากับเวลาที่ลูกน้อยดูดนม
- น้ำนมเกลี้ยงเต้า: ในการให้นมแต่ละครั้ง ทารกน้อยควรดื่มนมปริมาณมากและนานเพียงพอที่จะทำให้น้ำนมเกลี้ยงเต้า จากนั้นก็อาจดื่มนมอีกข้างหนึ่งต่อไป การดื่มนมให้หมดเต้าเป็นวิธีสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมาเรื่อย ๆ ลองนึกภาพว่าหากมีพื้นที่ให้ใส่น้ำนมน้อยลง ร่างกายก็จะไม่รู้สึกว่าต้องผลิตน้ำนมออกมาเติมเข้าไป ดังนั้นเมื่อลูกน้อยดูดนมจนหมดเกลี้ยงเต้าข้างหนึ่งแล้ว ควรลองพยายามให้เขาดื่มอีกข้างหนึ่งต่อ และดูว่าเขาจะดื่มนมหรือไม่ หากลูกอิ่มตั้งแต่เต้าแรก คุณแม่อาจปั๊มนมจากเต้าอีกข้างหนึ่งมาสำรองไว้ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมาเรื่อย ๆ คุณแม่จะเพิ่มปริมาณนมได้โดยการให้ลูกดูดนมให้เกลี้ยงเต้า และปั๊มนมบ่อย ๆ
- การปั๊มนม: การปั๊มนมจะช่วยบอกให้ร่างกายรู้ว่าควรผลิตน้ำนมเพิ่ม วิธีปั๊มน้ำนม ทำได้โดยปั๊มนมต่อไป 5 – 10 นาทีหลังจากให้นมลูกน้อยเสร็จแล้ว หากคุณแม่ใช้การปั๊มนมอย่างเดียว คุณแม่อาจลดระยะห่างระหว่างการปั๊มนมแต่ละครั้ง เช่นจากเว้น 3 ชั่วโมง ก็ลดลงเหลือ 2 ชั่วโมง หรือคุณแม่อาจปั๊มนมให้นานขึ้น เช่นจากเดิมปั๊ม 20 นาทีก็เพิ่มเป็น 30 นาที เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม
- ดื่มน้ำมาก ๆ และทานอาหารที่มีประโยชน์: ร่างกายของคุณแม่ที่กำลังให้นมจะขาดน้ำได้ง่าย และร่างกายจะใช้พลังงานมากขึ้นประมาณ 500 กิโลแคลอรี่ต่อวันในการให้นมลูก ดังนั้น วิธีเพิ่มน้ำนม ที่ทำได้คือคุณแม่ควรทานอาหารที่หลากหลายและมีประโยชน์ เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอในการผลิตนม นอกจากนี้ควรดื่มน้ำมาก ๆ ตลอดวันเพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปในการผลิตนมให้ลูกน้อย โดยคร่าว ๆ แล้วควรดื่มน้ำปริมาณ 8 ออนซ์ หรือ 236 มิลลิลิตรต่อการให้นมแต่ละครั้ง
- พักผ่อนมาก ๆ และหลีกเลี่ยงความเครียด: การอยู่ใกล้ชิดลูกน้อยจะช่วยให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะส่งสัญญาณให้ร่างกายผลิตน้ำนมออกมา ดังนั้นการนอนหรืองีบไปพร้อมกับลูกน้อยจึงเป็นวิธีเพิ่มน้ำนมได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่เครียด ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา คอร์ติซอลจะไปขัดขวางการผลิตออกซิโทซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหล หากไม่มีออกซิโทซิน เต้านมจะไม่ได้รับการกระตุ้นและทำให้น้ำนมหยุดไหลได้ ดังนั้นคุณแม่ควรพยายามผ่อนคลาย และหลีกเลี่ยงสถานการณ์ตึงเครียดให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
น้ำนมน้อย น้ำนมไม่พอ เกิดจากอะไร
คุณแม่มือใหม่มักมีปัญหาน้ำนมน้อย ไม่เพียงพอแก่ความต้องการของลูกน้อย ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถให้นมลูกน้อยได้อย่างต่อเนื่อง คุณแม่หลายคนอาจกำลังสงสัยว่าตัวเองมีน้ำนมน้อยหรือไม่ เรามีเทคนิคการสังเกตดังนี้
อาการที่น่าเป็นห่วงที่แสดงว่าน้ำนมน้อย
ความเชื่อที่ว่าเต้านมขนาดเล็กจะให้นมน้อยเป็นความเชื่อที่ผิด การที่เต้านมเล็ก, ไม่มีน้ำนมไหลออกมา หรือปั๊มนมได้ไม่เพียงพอไม่ได้แปลว่าคุณแม่มีน้ำนมน้อย แต่ปัญหาเรื่องปริมาณน้ำนมจะแสดงให้เห็นจากพัฒนาการของทารกน้อย โดยสัญญาณเตือนที่บอกว่าน้ำนมน้อยมีดังต่อไปนี้
- น้ำหนักตัวลูกน้อยไม่เพิ่มกลับมาเท่าน้ำหนักแรกเกิดภายในเวลา 2 สัปดาห์หลังคลอด
- สีผิวของทารกมีสีออกเหลือง ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคดีซ่าน
- ทารกขับถ่ายน้อย โดยปัสสาวะและอุจจาระมีสีเข้ม ซึ่งเป็นสัญญาณว่าทารกขาดน้ำ
ทำไมคุณแม่จึงมีน้ำนมน้อย
ปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้น้ำนมมีปริมาณน้อยลงมีดังนี้:
- การเข้าเต้าไม่ถูกวิธี: เมื่อทารกน้อยไม่สามารถดูดนมออกจากเต้าคุณแม่ได้มากพอ ร่างกายของคุณแม่ก็จะผลิตน้ำนมน้อยกว่าที่ควรจะผลิตได้ ดังนั้นควรให้ลูกน้อยเข้าเต้านมให้ถูกต้อง
- การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอลล์: การเสพยาเสพติดจะไปทำให้กลไกการหลั่งน้ำนมลดลง และรบกวนการให้นมได้
- ภาวะเครียด: อาการเครียดหรือความเหนื่อยล้าอาจทำให้นมหมดเร็วขึ้น เนื่องจากจะไปรบกวนการผลิตนมแม่
- การให้ลูกดื่มนมจากขวดนม: หากคุณแม่ให้ลูกน้อยดื่มนมผง ลูกก็จะดื่มนมจากแม่น้อยลงตามธรรมชาติ และร่างกายของคุณแม่ก็จะส่งสัญญาณให้ผลิตน้ำนมน้อยลงตามไปด้วย
- การให้นมที่ไม่สม่ำเสมอ: หากคุณแม่เว้นระยะห่างการให้นมมากกว่า 4 ชั่วโมง หรือให้นมลูกน้อยไม่สม่ำเสมอ ก็อาจรบกวนกระบวนการผลิตนมได้
ถึงแม้ว่าลูกน้อยจะเข้าเต้าอย่างถูกต้อง แต่ในบางสถานการณ์ร่างกายของคุณแม่ก็อาจผลิตน้ำนมได้ไม่เต็มที่ ทำให้มีน้ำนมน้อยได้ บางครั้งปัญหาน้ำนมน้อยอาจเกิดจากปัญหาทางสรีระ หรืออาจเกิดจากความเจ็บป่วยของร่างกาย หากคุณแม่คิดว่าตัวเองมีปัญหาเหล่านี้ แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยประเมินความต้องการ เสนอแนะวิธีรักษา และวิธีปรับการใช้ชีวิตให้คุณแม่ได้ นอกจากนี้คุณแม่สามารถดาวน์โหลดแอพ Mali ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับการให้นมลูกที่ได้รับการรับรองจากแพทย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มน้ำนม และการดูแลลูกน้อยตามพัฒนาการ โดยสามารถดาวน์โหลดแอพ Mali ได้ทั้งทาง iOS และ Android
บทความและข้อมูลทั้งหมดของเราได้รับการรับรองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ
บทความแนะนำ
- 10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการให้นมบุตร
- วิธีให้ลูกดูดเต้า- คู่มือเบื้องต้นสำหรับการป้อนนมบุตร
- ปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- สารอาหารที่จำเป็นในขณะให้นมลูก
- น้ำนมแม่ ยาวิเศษของลูกน้อย
- การใช้ยาอย่างปลอดภัยในระหว่างการให้นมบุตร
- วิธีการดูแลหัวนมของคุณแม่
- การปั๊มนม
- นมผง ทางเลือกในการให้นมลูก มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (28 พฤศจิกายน 2020)
ที่มา:
- Breast pain and breastfeeding, NHS
- Breastfeeding report card, CDC
- Unicef
- 6 Tips for breastfeeding, Very Well Family
- Increasing your breastmilk, Pregnancy Birthing Baby
- How to increase breast milk, Healthline
- How to increase breast milk, Very Well Family
- Breast compression, International breastfeeding Center
- The use and effectiveness of galactagogues, NCBI