ท่านอนที่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ไปได้ระยะหนึ่ง คุณแม่อาจเริ่มรู้สึกว่านอนหลับได้ไม่สนิท หรือหาท่านอนที่สบายได้ยากขึ้น เนื่องจากมดลูกและลูกกำลังเจริญเติบโตขึ้นภายในตัวคุณแม่ จึงอาจจะเป็นการยากที่จะหาท่านอนที่เหมาะสม รวมถึงยังมีความรู้สึกไม่สบายตัวอื่น ๆ ตั้งแต่เริ่มตั้งท้องอ่อน ๆ เช่น อาการปวดหลัง เสียดท้อง หรือ การหายใจไม่ทั่วท้อง ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถป้องกัน หรือแก้ไขได้ด้วยการหาท่านอนที่ถูกต้อง และปลอดภัยสำหรับคนท้อง
ท่านอนคนท้อง 1- 3 เดือน
ในช่วงไตรมาสแรก ท่านอนที่ดีที่สุดคือท่าตะแคงข้าง ไม่ว่าจะตะแคงซ้ายหรือตะแคงขวาก็ปลอดภัยทั้งคู่ ด้านที่ดีที่สุดคือด้านซ้าย เพราะจะช่วยเพิ่มปริมาณการไหลเวียนของโลหิตและสารอาหารต่าง ๆ ที่จะส่งผ่านไปยังรกและ ลูกน้อยของคุณแม่ด้วย อ่านเพิ่มเติมเรื่องท่านอนคนท้องได้ที่นี่
ท่านอนคนท้อง 4 – 6 เดือน
เมื่อมีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป คุณแม่ไม่ควรนอนหงายสำหรับท่านอนคนท้องในไตรมาสที่ 2 เพราะจะทำให้ความดันโลหิตลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณของเลือดที่จะส่งไปหล่อเลี้ยงหัวใจและทารกลดลงได้ สาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะนี้ เนื่องจากเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ชื่อ เอออตา และเส้นเลือดดำใหญ่ที่ชื่อ เวนา คาวา (aorta and vena cava) ถูกเบียดด้วยลำไส้ในช่องท้องนั่นเอง แต่ถ้าคุณแม่เผลอเปลี่ยนไปนอนหงายเองขณะหลับ ก็ไม่ต้องตกใจไป ก็แค่เปลี่ยนกลับมานอนตะแคงข้างเหมือนเดิมเมื่อรู้สึกตัว คุณแม่สามารถติดตามการเจริญเติบโตของลูกน้อยในแต่ละเดือนได้ฟรี เพียงโหลดแอพมะลิ
ท่านอนคนท้อง 7 – 9 เดือน
เมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงท้องแก่ การนอนหลับจะเป็นไปได้ยากขึ้น คุณแม่ควรนอนท่าตะแคงข้าง อาจใช้หมอนหนุนสัก 2-3 ใบ หรือซื้อหมอนข้างสำหรับคนท้องใกล้คลอดเพื่อให้นอนหลับสบายขึ้น ดูให้แน่ใจว่าหมอนรองรับส่วนหลังของคุณแม่พอดี และยกศีรษะของคุณแม่เพื่อป้องกันการเสียดท้อง และทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่านอนในสัปดาห์ท้ายๆ ของการตั้งครรภ์
ทำไมถึงรู้สึกอึดอัดมากในช่วงไตรมาสสุดท้าย
ในขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะรบกวนการนอน ทำให้คนท้องหลับไม่สนิทได้ เหตุผลที่ทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวอาจรวมถึง:
- ท้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
- อาการปวดหลัง
- อาการจุกเสียดท้อง
- ตะคริว
- หายใจได้สั้น และไม่ลึก
- คิดมากนอนไม่หลับ
เคล็ดลับการนอนของคนท้องใกล้คลอด
ในช่วงท้อง 8-9 เดือน หรือไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจสามารถจัดการกับอาการเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง โดยการลองทำตามคำแนะนำง่าย ๆ ดังต่อไปนี้:
- สวมชุดนอนที่ใส่สบาย ๆ หลีกเลี่ยงเสื้อผ้ารัดกระชับตัว เลือกใช้ผ้าฝ้ายที่สามารถระบายอากาศได้ดี ทำให้รู้สึกสบาย แก้ไขอาการหลับไม่สนิท
- การนอนราบลงบนเตียงอาจจะไม่สบายนักสำหรับท่านอนคนท้องใกล้คลอด หากคุณแม่รู้สึกสบายกว่าที่จะนอนบนเก้าอี้ที่นุ่ม ๆ หรือโซฟา ก็นอนบนนั้นได้เลย
- รับประทานอาหารเบาๆ ในมื้อเย็น หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดเนื่องจากมักจะทำให้เกิดอาการเสียดท้องที่อาจรุนแรงขึ้นในช่วงกลางคืน
- ลองออกกำลังกายเบา ๆ ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยทำให้ผ่อนคลาย และทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนได้ดีขึ้น ช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น
- พยายามหลีกเลี่ยงคาเฟอีนและเครื่องดื่มอื่น ๆ ช่วงใกล้เวลาเข้านอน จะช่วยลดจำนวนการเข้าห้องน้ำในตอนกลางคืนได้
ท่านอนคนท้องที่ทำให้ไม่ปวดหลัง
อาการปวดหลังเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ และอาจเป็นอุปสครรค์ในการนอนของคุณแม่หลาย ๆ คน คุณแม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้
- ใช้หมอน และหมอนข้างเพื่อช่วยให้นอนหลับสบาย ถ้าเป็นไปได้ คุณแม่อาจซื้อหมอนโค้งสำหรับหญิงท้องแก่มาลองใช้เพื่อให้ได้ท่านอนคนท้องที่ถูกต้องและสบายขึ้น
- นอนตะแคงซ้าย และใช้หมอนข้างพาดระหว่างขา และหนุนหลังของคุณแม่เพื่อให้ไม่ปวดหลัง
ท่านอนคนท้องที่ควรหลีกเลี่ยง
- ท่านอนคว่ำ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงทั้งการนอนคว่ำ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนเลือด อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกในท้องได้ โดยคุณแม่ที่ยังท้องอ่อนอาจยังรู้สึกสบายที่จะนอนคว่ำ แต่ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับท่านอนคนท้องแก่
- ท่านอนหงาย ท่านอนหงายไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนท้องไตรมาสสุดท้าย เพราะน้ำหนักลูกอาจกดทับเส้นเลือดใหญ่จนทำให้คุณแม่ปวดหลัง และหายใจติดขัดได้
- นอนตะแคงด้านเดียว แม้ว่าการนอนตะแคงซ้ายจะส่งเสริมการไหลเวียนเลือดได้ดีที่สุด คุณแม่ควรเปลี่ยนด้านตะแคงบ้างเพื่อป้องกันไม่ให้เส้นเลือดถูกกดทับเป็นเวลานาน
การลุกขึ้นและล้มตัวลงนอนของคนท้อง
คุณแม่ควรค่อย ๆ ตะแคงนอนและตะแคงลุก นั่งลงข้างเตียงก่อนที่จะนอนลงไป ใช้มือยันลงบนเตียงก่อนที่จะตะแคงลง ใช้มือทั้งสองข้างรับน้ำหนักเพื่อนอนในท่านอนตะแคง สำหรับคุณแม่ที่ยังตั้งท้องอ่อน ๆ สามารถพลิกตัวเป็นท่านอนหงายได้ ส่วนคุณแม่ท้องแก่สามารถนอนตะแคง ได้ทั้งสองด้วย โดยค่อย ๆ พลิกตัวเปลี่ยนท่า และใช้มือรับน้ำหนัเสมอ ในการลุกขึ้น ควรลุกจากตะแคงทุกครั้ง นั่งบนเตียงก่อนสักพักแล้วจึงค่อยยืน
การนอนของคุณแม่มีความสำคัญต่อลูกในครรภ์มาก คุณแม่ควรนอนพักผ่อนให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 ชั่วโมง โดยเฉพาะในคุรแม่ที่มีภาวะรกต่ำ และงีบระหว่างวันเมื่อรู้สึกเหนื่อย ปรึกษาสูติแพทย์หรือพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากมีอาการอะไรที่คุณแม่รู้สึกไม่สบาย มีคำถามในเรื่องของการนอน หรือถ้าคุณแม่รู้สึกว่าพักผ่อนไม่เพียงพอ สูติแพทย์หรือพยาบาลยินดีที่จะแนะนำวิธีที่ถูกต้องให้กับคุณแม่ทุกคนอย่างแน่นอน หากคุณแม่มีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่จะช่วยบันทึก และแนะนำเกี่ยวกับการดูแลครรภ์ได้ โหลดแอพมะลิได้ที่นี่
บทความและข้อมูลทั้งหมดของเราได้รับการรับรองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ
บทความที่เกี่ยวข้อง
- นอนหลับอย่างไรให้ปลอดภัยในช่วงตั้งครรภ์
- ท่านอนที่ดีที่สุดในสัปดาห์ท้ายๆ ของการตั้งครรภ์
- สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในขณะตั้งครรภ์
- การมีเซ็กซ์ในระหว่างตั้งครรภ์
- ทารกในครรภ์นอนหลับอย่างไร
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (28 พฤศจิกายน 2020)