ดาวน์โหลดแอป

ฝากครรภ์ครั้งแรกตรวจอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายเท่าไร เตรียมตัวอย่างไร

ฝากครรภ์ครั้งแรกตรวจอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายเท่าไร เตรียมตัวอย่างไร

เมื่อต้องไปฝากครรภ์ครั้งแรกคงทำให้คุณแม่มือใหม่ต้องกังวลไม่น้อย แต่เพราะการฝากครรภ์นั้นสำคัญเกินกว่าที่คุณแม่จะละเลยได้ มะลิจึงได้รวบรวมข้อมูลที่คุณแม่หลายท่านสงสัยไว้ในบทความนี้ ไม่ว่าจะเป็น คุณแม่ควรไปฝากครรภ์เมื่อไร เตรียมตัวอย่างไร ต้องตรวจอะไรบ้าง ฝากครรภ์ที่ไหนดี เพื่อให้คุณแม่สามารถไปฝากครรภ์ได้อย่างมั่นใจที่สุด

การฝากครรภ์คืออะไร สำคัญอย่างไร

การฝากครรภ์คือ การที่คุณแม่เข้าไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาล คลินิก หรือสถานพยาบาลต่างๆ เป็นระยะตลอดช่วงเวลาตั้งครรภ์ โดยคุณแม่จะได้รับการยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจร่างกายเบื้องต้น ตรวจคัดกรองและประเมินความเสี่ยง รวมไปถึงการกำหนดวันคลอด ถ้าหากมีการทำอัลตราซาวด์ คุณแม่ก็จะได้เห็นลูกตัวน้อย ๆ ขยับไปมาอยู่ในท้อง ในคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี คุณหมออาจแนะนำให้รับการตรวจคัดกรองสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ทั้งนี้เพื่อให้สุขภาพของคุณแม่มีความพร้อม ลูกน้อยในครรภ์มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ และสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือความผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

การตรวจหาเชื้อ GBS

ฝากครรภ์คุณภาพคืออะไร ตรวจอะไรบ้าง

การฝากครรภ์คุณภาพไม่ใช่เพียงแค่ฝากครรภ์ครบ 5 ครั้งเท่านั้น แต่ตามมาตรฐานกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขในการฝากครรภ์คุณแม่จะได้รับการบริการ 10 อย่างดังนี้

1. ก่อน 12 สัปดาห์: ได้รับการฝากครรภ์ครั้งแรกก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ซึ่งจะมีนัดหมายมาฝากครรภ์ต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ครั้ง ตามอายุครรภ์ดังนี้

ครั้งที่ 1 : อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์
ครั้งที่ 2 : อายุครรภ์ 18 สัปดาห์
ครั้งที่ 3 : อายุครรภ์ 26 สัปดาห์
ครั้งที่ 4 : อายุครรภ์ 32 สัปดาห์
ครั้งที่ 5 : อายุครรภ์ 38 สัปดาห์

2. คัดกรองความเสี่ยง: ได้รับการคัดกรองความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่มีความเสี่ยงจะได้รับการส่งต่อแพทย์ดูแลโดยเฉพาะ

3. ตรวจโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม: ตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันเมื่อมีข้อบ่งชี้โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม ภาวะพร่องไทรอยด์แต่กำเนิด คัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์

4. ตรวจร่างกายเบื้องต้น: ได้แก่ ตรวจอนามัยในช่องปาก ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจอัลตร้าซาวด์  ตรวจครรภ์ ประเมินอายุครรภ์ ซึ่งคุณแม่จะได้เห็นพัฒนาการของทารกในครรภ์

5. การตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยสมัครใจ: Hct, CBC, VDRL, Albumin/Sugar, HBsAg, ธาลัสซีเมีย, เอดส์ และแจ้งผลเลือดแก่หญิงตั้งครรภ์/สามี  พร้อมทั้งให้การปรึกษาเกี่ยวกับผลการตรวจเลือด

6. การตรวจปัสสาวะ: โดยใช้ Multiple  dipstick Test เพื่อคัดกรองภาวะ Asymptomatic Bacteriuria (ASB) ซึ่งเป็นภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงตรวจภายในเพื่อตรวจความผิดปกติและการติดเชื้อในช่องคลอด (เป็นการตรวจตามความสมัครใจและไม่มีข้อห้าม)   

7. ฉีดวัคซีน: ฉีดวัคซีนขณะตั้งครรภ์ป้องกันโรคคอตีบบาดทะยัก  

8. อาหารและวิตามินเสริมขณะท้อง: คุณแม่จะได้รับการประเมินพฤติกรรมการบริโภคอาหาร แจ้งและอธิบายผลการประเมิน ให้คำแนะนำการบริโภคอาหารขณะตั้งครรภ์ จ่ายยาเม็ดเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟเลตในหญิงตั้งครรภ์ตลอดการตั้งครรภ์ และควรได้รับโฟเลต (Folic acid) ขนาด 400 ไมโครกรัมต่อวัน ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพื่อลด Neural  tube  defect  ของทารก ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดความผิดปกติต่อระบบประสาทแต่กำเนิด

9. ให้ความรู้รายกลุ่ม: การให้ความรู้ตามมาตรฐานโรงเรียนพ่อแม่รายกลุ่ม พร้อมข้อแนะนำที่หญิงตั้งครรภ์จะนำไปเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนได้ด้วยตนเอง  

10. สายด่วน: จัดให้มีช่องทางติดต่อระหว่างผู้รับบริการกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข/หน่วยบริการที่ฝากครรภ์ ได้ 24 ชั่วโมง เพื่อให้การช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินอย่างทันท่วงที

อาการแพ้ท้อง

ควรไปฝากครรภ์ตอนไหน

ฝากครรภ์ครั้งแรกก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์และการฝากครรภ์ครบ 5 ครั้งตลอดระยะการตั้งครรภ์ เนื่องจากในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด อวัยวะของทารกในครรภ์จะเริ่มสร้างตั้งแต่สัปดาห์ที่ 3 เมื่อครบ 8 สัปดาห์ ทารกในครรภ์จะมีอวัยวะครบ 90% และสมองเติบโตถึง 50 % การฝากครรภ์เร็วและมีคุณภาพช่วยค้นหาภาวะเสี่ยงและลดภาวะแทรกซ้อนทั้งในมารดาและทารก ทำให้ทารกสมบูรณ์แข็งแรงและมารดาปลอดภัยจากการตั้งครรภ์

ไม่ไปฝากครรภ์ได้หรือไม่

การฝากครรภ์ มีความจำเป็นต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนเพราะการตั้งครรภ์และการคลอดเป็นภาวะเสี่ยงของสุขภาพของคุณแม่ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปด้วยดี จนกระทั่งคลอดบุตรออกมาด้วยความปลอดภัย ทารกมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง การฝากครรภ์จะทำให้ได้รับการดูแลและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง หากมีความผิดปกติบางอย่างเช่น ความผิดปกติของรกหรือความพิการของทารกอาจมีผลต่อการเจริญเติบโต และการมีชีวิตรอดของทารก โรคบางชนิดสามารถถ่ายทอดทางกระแสเลือด การฝากครรภ์จะทำให้มารดาทราบล่วงหน้าว่า มารดาและทารกนั้นมีความเสี่ยงด้านสุขภาพหรือไม่

เคล็ดลับการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์

การเตรียมตัว ฝากครรภ์ครั้งแรก

  1. จดบันทึกวันที่ประจำเดือนครั้งล่าสุดเพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณวันครบกำหนดคลอด โดยใช้วันที่ประจำเดือนมาวันแรก
  2. ในการมาพบแพทย์ควรพาสามีหรือบุคคลในครอบครัวมาด้วย
  3. เตรียมตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติตั้งครรภ์ ประวัติการแท้ง การใช้ยาคุมกำเนิด การแพ้ การใช้ยาต่าง ๆ ประวัติการผ่าตัด และโรคประจำตัว
  4. สอบถามบุคคลในครอบครัวเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม
  5. สอบถามครอบครัวฝ่ายสามีเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม

คุณแม่สามารถเปิดคู่มือการฝากครรภ์ได้ที่นี่ ซึ่งจะแนะนำข้อมูลเบื้องต้นในการฝากครรภ์แต่ละครั้ง คำถามที่คุณแม่ควรเตรียมมาถามคุณหมอ และการเตรียมตัวมาฝากครรภ์ในแต่ละครั้งอย่างละเอียด

ฝากครรภ์ฟรี ได้หรือไม่ ฝากท้องโรงพยาบาลรัฐเสียเงินไหม

คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนไม่ว่าจะสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ สามารถเข้า ฝากครรภ์ฟรี ได้ในโรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง หรือสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ฟรีทุกที่ ในวันและเวลาราชการ โดยคุณแม่จะได้รับการตรวจและบริการพื้นฐานที่จำเป็นเพียงพอตามสิทธิการรักษา ยกเว้นในกรณีที่คุณแม่ต้องการตรวจเพิ่มเติมที่อยู่นอกเหนือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ จึงจะเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจเพิ่มตามความสมัครใจ

โครงการเงินทุนช่วยเหลือคนท้องจากรัฐบาล

ฝากครรภ์ เท่าไร ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์

หากคุณแม่เข้าใช้สิทธิการฝากครรภ์ในสถานพยาบาลของรัฐ ไม่ว่าสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ จะสามารถฝากครรภ์ได้ฟรี โดยอาจมีส่วนเกินเพียงหลักสิบ-ร้อย เท่านั้น และในกรณีที่คุณแม่ใช้สิทธิประกันสังคมจะสามารถเบิกค่าใช้จ่ายตามจริงได้อีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

โดยคุณแม่จะต้องจ่ายค่าประกันสังคมแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนก่อนใช้สิทธิ และในกรณีที่คุณแม่ไม่มีสิทธิประกันสังคม สามารถใช้สิทธิของสามีเบิกได้ แต่ในกรณีที่คุณแม่เลือกฝากครรภ์กับโรงพยาบาลเอกชน คลินิกใกล้บ้าน ที่ไม่สามารถใช้สิทธิการรักษาได้ ค่าใช้จ่ายจะมีทั้งแบบเหมาแพ็คเกจ และรายครั้งให้คุณแม่เลือกตามความสมัครใจ ทั้งนี้คุณแม่ควรโทรสอบถามกับโรงพยาบาลหรือคลินิกนั้นๆ อีกครั้ง โดยอาจมีค่าใช้จ่ายโดยประมาณดังนี้

ซึ่ง รพ.เอกชนส่วนมากจะเป็นแพ็คเกจเหมาจ่ายครอบคลุมการตรวจทั้งหมด และแบ่งชำระเป็นงวด ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละโรงพยาบาล บางแห่งรวมการฝากครรภ์ไว้กับแพ็คเกจคลอดด้วยก็มี ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นเริ่มต้นที่ 10,000 – 30,000 บาท

ฝากครรภ์

ฝากครรภ์ที่ไหนดี

ไปฝากครรภ์ที่ไหนดี ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง

  1. สิทธิการรักษาพยาบาลที่คุณแม่มี
  2. โรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลอื่นๆ ที่ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน
  3. หากคุณแม่มีความเสี่ยง หรือภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวังระหว่างตั้งครรภ์ ควรเลือกไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล มากกว่าคลินิก
  4. เลือกสูตินรีแพทย์ที่คุณแม่ไว้วางใจ
  5. ประเมินค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม

เลือกโรงพยาบาลเดียวกับที่ต้องการคลอด โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวังระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เบาหวาน แท้งคุกคาม เพื่อให้คุณหมอและทีมบุคลากรทางการแพทย์มีประวัติการรักษาของคุณแม่ และสามารถช่วยเหลือดูแลได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

คลอดธรรมชาติ

ฝากครรภ์กับคลอดคนละที่ได้หรือไม่

การฝากครรภ์กับคลอดคนละที่นั้นสามารถทำได้ คุณแม่หลายท่านอาจเลือกฝากครรภ์ที่คลินิกใกล้บ้านเพราะความสะดวกในการเข้าถึง และเลือกไปคลอดในโรงพยาบาลที่มีสิทธิการรักษาเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ทั้งนี้ หากคุณแม่มีภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวังระหว่างตั้งครรภ์ควรเลือกฝากครรภ์โรงพยาบาลเดียวกันกับที่ต้องการคลอด เพื่อให้คุณหมอสามารถติดตามอาการได้อย่างใกล้ชิด

บทความและข้อมูลทั้งหมดของเราได้รับการรับรองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

คุณหมอดูแลคนท้อง พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ

พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ

อ่านเพิ่มเติม

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน