8 อาการคนท้องระยะเริ่มต้น
อาการคนท้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งคุณแม่บางคนจะสามารถรับรู้ได้ตั้งแต่เริ่มตั้งท้องอ่อน ๆ หากตั้งใจสังเกต และเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาของการตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วงท้องแก่ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของอาการคนท้องในแต่ละช่วงของการตั้งครรภ์
อาการคนท้องสัปดาห์แรก
อาการเตือนต่อไปนี้คืออาการคนท้องเริ่มแรกที่อาจบอกได้ว่าคุณกำลังตั้งท้องโดยไม่รู้ตัวก่อนที่จะขาดประจำเดือน หรือตั้งแต่ในช่วง 1 สัปดาห์แรก
อาการคนท้อง: เจ็บเต้านม
คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจพบว่าหัวนมไวต่อความรู้สึกเป็นพิเศษ หรืออาจเจ็บปวดนิด ๆ ที่เต้านม หรืออาจรู้สึกว่าเต้านมใหญ่ขึ้นกว่าปกติเล็กน้อย แต่บางคนอาจไม่รู้สึกแตกต่างจากเดิมเลย บางคนอาจเห็นเส้นเลือดฝอยรอบเต้านมชัดเจนขึ้น หรืออาจมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นที่วงปานรอบ ๆ หัวนม การเจ็บเต้านมจึงอาจเป็นหนึ่งในสัญญาณบ่งบอกว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ก่อนขาดประจำเดือน
อาการคนท้อง: ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
ความต้องการปัสสาวะถี่ขึ้นเกิดจากความดันจากมดลูกที่ขยายตัวไปดันกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งคุณแม่บางคนอาจเกิดอาการนี้ได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ โดยปกติแล้วอาการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์เป็นต้นไป และจะกลับมาอีกครั้งในสัปดาห์ท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์
อาการคนท้อง: เมื่อยล้า อ่อนเพลีย
คุณอาจรู้สึกเมื่อยล้า อ่อนเพลีย และอารมณ์แปรปรวนในช่วง 12 สัปดาห์แรกของการตั้งท้อง พยายามพักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นั่งโดยหาที่พักเท้ามารองขาเอาไว้ในระหว่างวัน รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พักผ่อนและนอนหลับอย่างเพียงพอ
อาการคนท้อง: มีตกขาวมากขึ้น
สัญญาณหนึ่งของการตั้งครรภ์ คือมีตกขาวในปริมาณที่เพิ่มขึ้น อาการตกขาวในช่วงท้องอ่อน ๆ จะมีลักษณะเป็นมูกใส สีขาวขุ่น และไม่มีกลิ่น ไม่มีอาการคัน ถ้าตกขาวของคุรดูต่างไปจากเดิม อาจเป็นสัญญานบ่งบอกถึงอาการอื่น ๆ ได้ ตรวจดูลักษณะของตกขาวได้ที่นี่
อาการคนท้อง: แพ้ท้อง
อาการคลื่นไส้และอาเจียนดูเหมือนจะเป็นอาการหลัก ๆ ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และคุณแม่ท้องอ่อน ๆ บางท่าน อาจมีอาการแพ้ท้องตั้งแต่ก่อนขาดประจำเดือนได้รวมถึงอาจมีรสนิยมในการรับประทานอาหารเปลี่ยนไป หรืออาจพบว่าไม่สามารถรับประทานอาหารบางอย่าง หรือรับมือกับกลิ่นบางอย่างได้ด้วย
อาการคนท้อง: ปวดศีรษะ
อาการปวดหัวดูเหมือนจะเป็นอาการที่พบได้บ่อยตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ แต่โดยปกติแล้วมักจะมีอาการดีขึ้น หรือหายไปเองในช่วง 6 เดือนหลังของการตั้งครรภ์
อาการคนท้อง: ท้องผูก
อาการเตือนของคนเริ่มท้องที่พบได้บ่อยครั้งตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของการตั้งครรภ์คือ อาการท้องผูก เพื่อป้องกันการท้องผูกนี้ คุณควรดื่มน้ำมาก ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
อาการคนท้อง: มีเลือดออกเล็กน้อยทางช่องคลอด
ในช่วงที่เพิ่งเริ่มท้อง คุณอาจพบว่ามีเลือดออกกะปริดกะปรอย ซึ่งไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เป็นสัญญาณของการฝังตัวของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิลงในผนังมดลูก การมีเลือดออกมักจะเกิดขึ้นหลังจากการปฏิสนธิเกิดขึ้นไม่นาน เป็นอาการเตือนของคนท้องนั่นเอง
อาการคนท้องสัปดาห์ที่ 2 – 4
อาการท้อง 2 สัปดาห์
ในสัปดาห์ที่ 2 ของการตั้งครรภ์คุณแม่อาจจะยังไม่สังเกตเห็นอาการคนท้องหรือการเปลี่ยนแปลง แต่มีความเป็นไปได้ว่า เซลล์ไข่อาจได้รับการปฏิสนธิกับอสุจิแล้ว หากเป็นเช่นนั้นร่างกายของคุณแม่จะเริ่มผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจน เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงลูกไปจนกว่ารกจะพัฒนาสมบูรณ์ในประมาณสัปดาห์ที่ 10 ของการตั้งครรภ์ โดยในช่วงนี้คุณอาจมีอาการคนท้องระยะเริ่มต้นบ้างแล้ว
อาการท้อง 3 สัปดาห์
ในสัปดาห์ที่ 3 นี้ คุณแม่อาจใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ลองทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง เพราะในตอนนี้ระดับฮอร์โมนเอชซีจี (hormone hCG) หรือฮอร์โมนตั้งครรภ์ของคุณแม่สูงมากพอที่ชุดตรวจครรภ์สามารถตรวจจับการตั้งครรภ์ได้แล้ว แต่หากผลทดสอบครรภ์เป็นลบ คุณแม่อาจต้องทำการตรวจซ้ำอีกหนึ่งสัปดาห์ให้หลังหรือหลังจากวันครบกำหนดรอบเดือนในเดือนถัดไป
ในระหว่างนี้ คุณแม่อาจเริ่มมีอาการของการตั้งครรภ์แล้ว เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เป็นตะคริว หรืออารมณ์แปรปรวน โดยอาการเหล่านี้เกิดจากร่างกายของคุณแม่มีการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้นนั่นเอง
อาการท้อง 4 สัปดาห์
ในช่วงสัปดาห์ที่ 4 และ สัปดาห์ที่ 5 คุณแม่น่าจะใกล้มีอาการขาดประจำเดือนแล้ว ซึ่งเป็นอาการยืนยันว่าคุณท้อง คุณอาจรู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างและดูแลอีกหนึ่งชีวิต ฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกายของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ ทำให้มีอาการแพ้ท้องได้ ลองทานสะระแหน่หรือขิงเพื่อช่วยลดอาการ
ติดตามรายละเอียดพัฒนาการทารกในครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และอาการคนท้องในแต่ละสัปดาห์ รวมถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในขณะที่ท้องได้ที่นี่ หรือเข้าใช้ฟีเจอร์ติดตามการเพิ่มน้ำหนัก การนับวันคลอด นับการดิ้นของลูก และอื่น ๆ อีกมากมายได้ฟรี ๆ ที่แอปพลิเคชัน มะลิ แม่มือใหม่
อาการคนท้องในแต่ละไตรมาส
อาการท้องในไตรมาสที่ 1
ในไตรมาสแรกร่างกายของคุณแม่กำลังผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งมักก่อให้เกิดอาการคนท้องข้างเคียงต่าง ๆ รวมถึงความเมื่อยล้า อ่อนเพลีย การไวต่อความรู้สึกของเต้านม และการปัสสาวะบ่อย ๆ คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้ หรือ “แพ้ท้อง” หรืออาจทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์จากความอยากอาหารที่แปลกประหลาดบางอย่าง แต่ก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลนัก คุณแม่อาจมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงง่ายขึ้น และมีการรับรู้กลิ่นเปลี่ยนไป ซึ่งนี้อาจเป็นกระบวนการทางธรรมชาติเพื่อป้องกันสารพิษและอันตรายจากภายนอกนั่นเอง เป็นโชคดีที่อาการคนท้องอ่อน ๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะหายไปเมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง และความเป็นไปได้ของการแท้งบุตรก็จะลงต่ำลงมากเมื่อสิ้นสุดไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
ในช่วงนี้ น้ำหนักคุณแม่ส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป ระหว่าง 0.5-2.5 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่น้ำหนักของคุณแม่จะไม่เพิ่มขึ้น หรืออาจลดลงเล็กน้อยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เนื่องจากการรับประทานอาหารได้น้อยลง หรือมีอาการแพ้ท้อง คุรแม่สามารถดาวน์โหลดแอพมะลิ และเข้าใช้ฟีเจอร์การติดตามน้ำหนักที่คำนวนน้ำหนักที่ควรจะเพิ่มขึ้นในทุกช่วงของการตั้งครรภ์ จากน้ำหนักตัวและดัชนีมวลกายของคุณแม่โดยเฉพาะ
อาการท้องในไตรมาสที่ 2
แน่นอนว่าในไตรมาสที่ 2 การตั้งครรภ์ของคุณแม่จะสังเกตได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่แล้วจะถูกเริ่มทักว่าตั้งครรภ์ก็ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 20 เป็นต้นไป ในขณะที่ช่วงตัวและหน้าอกของคุณแม่ขยายขึ้น คุณแม่บางท่านจะเริ่มสังเกตว่ามีรอยแตกลายบนผิวหนังบ้าง มีเส้นสีคล้ำขึ้นช่วงสะดือจนถึงท้องน้อย เรียกว่า Linea Nigra ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนแปลงของผิวพรรณที่เกิดจากการตั้งครรภ์ อาการเหล่านี้จะไม่เกิดอันตรายกับคุณแม่ และก็มักจะหายไปหลังคลอด คุณแม่สามารถทาครีม หรือโลชั่นเพื่อช่วยบำรุงผิวได้ แต่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่จะรับรองว่าจะป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้จริง
อาการแพ้ท้องมักจะเริ่มลดลงในไตรมาสที่ 2 คุณแม่อาจจะเริ่มรู้สึกถึงการเตะของลูกได้ในช่วง สัปดาห์ที่ 16-20 โดยเฉพาะถ้าไม่ใช่การตั้งครรภ์ครั้งแรก คุณแม่จะรู้สึกชัดเจน และเร็วขึ้น ถ้าคุณแม่ไม่สามารถรู้สึกถึงการขยับของลูกได้เลย หรือรู้สึกว่าเขาขยับลดลง ควรปรึกษาแพทย์ทันที โดยคุณแม่ควรบันทึกการดิ้นของลุกไว้ตลอดเพื่อติดตามความผิดปกติ คุณแม่สามารถโหลดแอพมะลิเพื่อใช้ฟีเจอร์การนับการดิ้นของเราได้ฟรี
น้ำหนักตัวและขนาดตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของคุณแม่อาจทำให้เกิดอาการใหม่ ๆ เพิ่มเติมมากขึ้น เช่น อาการปวดหลัง ปวดเมื่อยช่องท้อง ตะคริว ริดสีดวง อาการท้องผูก หรือจุกเสียดอาหารไม่ย่อย รวมไปถึงความเจ็บในบริเวณหลังและเชิงกราน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้ข้อต่อและเส้นเอ็นต่าง ๆ ของคุณแม่คลายตัว จึงเกิดอาการไม่สบายตัวขึ้น
อาการท้องในไตรมาสที่ 3
อาการคนท้องแก่ที่พบได้บ่อย ในไตรมาสที่ 3 ได้แก่ ปวดขา เป็นตะคริว รู้สึกไม่มั่นคงที่เท้า อาการท้องผูก ปวดหลัง มีรอยแตกลาย ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย กรดไหลย้อน ริดสีดวง คันผิวหนัง อาการตกขาว และก็เท้าบวม นอกจากนี้คุณแม่จะรู้สึกว่าการหายใจลำบากขึ้น ต้องไปเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้นอีก ทำให้การนอนไม่ค่อยดีเท่าที่ควร และอาจจะมีการกดดันในช่องท้อง และกระดูกเชิงกราน
คุณแม่อาจจะเริ่มรู้สึกถึงการเจ็บเตือนหรือว่าเรียกว่า Braxton-Hicks contractions ซึ่งอาการเจ็บท้องคลอดของจริง จะเจ็บทุก 30 นาที ในช่วงแรก และเพิ่มความถี่ขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะเป็นทุก 5 นาที และมีความรุนแรงขึ้น บวกกับอาจจะมีมูกเลือดทางช่องคลอด ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้ว
คุณแม่สามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแบ่งไตรมาส พัฒนาการของลูก และอาการในแต่ละไตรมาสได้ที่นี้ และหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการคนท้องทั้งหมดได้ที่นี่ นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถติดตามพัฒนาการของลูกในครรภ์ได้ตลอดการตั้งครรภ์โดยไ่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามการเพิ่มน้ำหนัก ติดตามพัฒนาการของลูกทุก ๆ สัปดาห์ เกร็ดความรู้ในการดูแลครรภ์ คู่มือการตั้งครรภ์ และตัวช่วยอีกมากมายง่ายๆ เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปมะลิเท่านั้น
บทความและข้อมูลทั้งหมดของเราได้รับการรับรองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ
บทความแนะนำ
- จะรู้ได้ไงว่าท้อง อาการของการตั้งครรภ์เบื้องต้น?
- คนท้องไม่ควรทำอะไรบ้าง ข้อห้ามสำหรับคนท้อง
- อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในขณะตั้งครรภ์
- การเจริญเติบโตของลูกในท้อง
- รวมเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับอาการแพ้ท้อง
- การเพิ่มน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (13 พฤศจิกายน 2020)
ที่มา:
- American College of Obstetricians and Gynecologists
- National Institutes of Health
- Pregnancy, the three trimesters, UCSF Health
- Your Baby's Growth and Development in the Third Trimester of Your Pregnancy, WebMD
- Pregnancy trimesters, a guide, Medical News Today
- The First Trimester, your baby's growth and development in early pregnancy, WebMD
- The Second Trimester, your baby's growth and development in middle pregnancy, WebMD
- National Health Service
- What to Expect
- Bounty Pregnancy Guide