คนท้องกินอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ตอบให้ชัวร์เมนูอาหารคนท้องที่คุณแม่สงสัย
คนท้องกินแซลมอนได้ไหม ซูชิ กาแฟ ชานม กินได้ไหม ของโปรดทั้งนั้นเลย พอเป็นคนท้องแล้วจะกินได้อีกรึเปล่านะ มีอะไรที่คนท้องไม่ควรกินและเป็นอันตรายกับลูกในท้องบ้าง มะลิรวบรวมเมนูอาหารคนท้อง ที่คุณแม่หลายคนตั้งคำถามว่ากินได้หรือไม่ มาคลายความสงสัยให้คุณแม่ทั้งหมดแล้ว
คนท้องกิน…ได้ไหม
คนท้องกินน้ำมะพร้าวได้ไหม
ในน้ำมะพร้าวมีระดับแคลอรี น้ำตาล และโซเดียมต่ำกว่าน้ำผลไม้อื่น ๆ ไม่มีไขมัน คลอเรสเตอรอลต่ำ และปราศจากการปรุงแต่งกลิ่น สี และรส การดื่มน้ำมะพร้าวขณะตั้งครรภ์จึงเป็นการเพิ่มสารอาหารได้ดีมาก
คนท้องกินอาหารทะเลได้ไหม
อาหารทะเลและสัตว์น้ำมีเปลือกเช่น หอย กุ้ง ปู มีโปรตีนมากมาย รวมถึงวิตามินบี กรดไขมัน โอเมก้า 3 และธาตุเหล็ก ทั้งหมดนี้เป็นสารอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาสมองของลูกน้อยในครรภ์ สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงคือ อาหารทะเลดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือไม่สะอาด เพราะอาจมีแบคทีเรียและไวรัสที่เป็นอันตราย
คนท้องกินถั่วได้ไหม
ถั่วต่างๆ ให้วิตามินและแร่ธาตุมากมาย เช่น โฟเลต โปรตีน ธาตุเหล็ก รวมไปถึงใยอาหารซึ่งจะช่วยในการย่อยอาหารได้ดี คุณแม่สามารถรับประทานถั่วได้ทุกชนิด เว้นแต่ว่าคุณแม่มีอาการแพ้ถั่ว หรือได้รับคำแนะนำอื่นจากคุณหมอ
คนท้องกินน้ำมันปลาได้ไหม
การบริโภคกรดไขมันโอเมก้า 3 จากน้ำมันปลาในระหว่างตั้งครรภ์สามารถลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ป้องกันการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ และช่วยเพิ่มน้ำหนักแรกเกิดของทารกในครรภ์ได้ ประโยชน์อื่น ๆ ที่สำคัญคือการช่วยเพิ่มการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ และลดความเสี่ยงของภาวะสมองพิการแต่กำเนิด ทั้งนี้ควรสอบถามคุณหมอก่อนเริ่มรับประทาน และระมัดระวังการกินน้ำมันตับปลาที่จะได้รับวิตามินเอสูงเกินไป
คนท้องกินกาแฟได้ไหม
กาแฟผงสำเร็จรูป 1 แก้วมีคาเฟอีนประมาณ 100 มิลลิกรัม ซึ่งคาเฟอีนนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ (FGR) อาจทำให้ทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าปกติ นั่นเป็นสาเหตุที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่แนะนำให้ คุณแม่จำกัดปริมาณคาเฟอีนในอาหารให้น้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวันในขณะตั้งครรภ์
คนท้องกินชานมไข่มุกได้ไหม
ชาเย็น ชานม หรือ ชานมไข่มุก มักมีน้ำตาลหรืออาจมีนมข้นหวานมาก การได้รับน้ำตาลมากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้คุณแม่น้ำหนักขึ้นมากเกินไป หรือเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
คนท้องกินซูชิได้ไหม
โดยปกติแล้วการรับประทานซูชิและอาหารอื่นๆ ที่ทำจากปลาดิบนั้นปลอดภัย แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่ควรรับประทานอาหารประเภทนี้ที่มาจากร้านที่เชื่อถือได้เท่านั้น
คนท้องกินนมได้ไหม
นมและผลิตภัณฑ์จากนมเป็นแหล่งโปรตีนและแคลเซียมที่ดี นอกจากนี้ยังมีวิตามิน D และโปรตีน และยังช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์อีกด้วย คุณแม่ควรเลือกดื่มเป็นนมพาสเจอร์ไรส์ นม UHT หรือนมพร่องมันเนย ที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำตาล
คนท้องกินสับปะรดได้ไหม
สับปะรดเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยโฟเลต ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม แมงกานีส ทองแดง และวิตามิน B6 สับปะรดเพียงถ้วยเดียวสามารถให้วิตามิน C ได้เกือบ 100% ของปริมาณที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับต่อวัน ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงน้ำสับปะรดที่จะมีปริมาณน้ำตาลสูง หรือสับปะรดพร้อมทานจากรถเข็นริมถนน เนื่องจากอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนได้
คนท้องกินวิตามินและอาหารเสริมได้ไหม
คุณแม่ควรรับประทานวิตามินและอาหารเสริมที่คุณหมอแนะนำอย่างครบถ้วนตามแพทย์สั่ง ทั้งนี้หากต้องการเลือกรับประทานเพิ่มเติม ควรสอบถามคุณหมอทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับวิตามินบางชนิดมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารเสริมประเภทสมุนไพร วิตามินรวม น้ำมันตับปลา และวิตามินเอ ควรรับประทานอย่างระมัดระวัง
คนท้องกินมะละกอได้ไหม
มะละกอสุกเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยเบตาแคโรทีน, โคลีน, ใยอาหาร, โฟเลต, โพแทสเซียม, วิตามิน A, B, และ C แต่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงมะละกอดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบที่มักใช้ทำส้มตำ เนื่องจากอาจทำให้มดลูกบีบตัวและคลอดก่อนกำหนดจากเอนไซม์ที่มาจากยางมะละกอ
คนท้องกินต้นอ่อนทานตะวันได้ไหม
ต้นอ่อนของพืช เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารและประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย เช่น โปรตีน โฟเลต แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส คุณแม่สามารถรับประทานได้ โดยล้างต้นอ่อนอย่างสะอาดและปรุงสุกดีจนทั่ว หลีกเลี่ยงการรับประทานต้นอ่อนสด
คนท้องกินแอลกอฮอล์ได้ไหม
ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับใดจะปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์ การงดเว้นการดื่มแอลกอฮอล์จึงเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทารกในครรภ์ การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในขณะตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดโรค FAS (fetal alcohol syndrome) หรือกลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ทารกมีความผิดปกติของรูปทรงใบหน้าและพิการทางสติปัญญาได้
คนท้องกินตับได้ไหม
ในช่วง 1 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ สตรีตั้งครรภ์ไม่ควรรับวิตามินเอเกิน 10000 IU/วัน ซึ่งในตับ 30 กรัมจะมีวิตามินเอมากถึง 10000 IU จึงควรรับประทานตับในปริมาณน้อย เพราะการได้รับวิตามินเอหรือเรตินอลมากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้
คนท้องห้ามกินอะไร ควรกินอะไรอย่างระมัดระวังบ้าง
เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ ทุกอย่างที่คุณแม่กินและดื่มจะถูกส่งผ่านไปยังลูกในอีกประมาณหนึ่งชั่วโมงถัดมา สิ่งที่ควรระวังคืออาหารต้องห้ามบางชนิดที่อาจสร้างความเสียหายแก่พัฒนาการของลูก และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อร่างกายของเขาเมื่อเติบโตขึ้น
- แอลกอฮอล์: การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากในขณะตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดโรค FAS (fetal alcohol syndrome) หรือกลุ่มอาการทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ทารกมีความผิดปกติของรูปทรงใบหน้าและพิการทางสติปัญญาได้
- คาเฟอีน: คาเฟอีนนั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร และส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ (FGR) อาจทำให้ทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
- ผักที่ไม่ได้ล้าง: เนื่องจากอาจมีสารกำจัดศัตรูพืช เช่น พาราควอทตกค้างอยู่ ซึ่งเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ที่กำลังเจริญเติบโต
- ต้นอ่อนพืชดิบ: เช่น ต้นอ่อนหัวไชเท้า ถั่วงอกถั่วเขียว ถั่วงอกถั่วเหลือง ต้นอ่อนทานตะวัน
- ปลาบางชนิด: ปลาฉลาม ปลากระโทงแทงดาบ ปลาโอ ปลาไทล์ฟิช หรือปลาอินทรี ปลาใหญ่เหล่านี้อาจมีสารปรอทเจอปนสูง
- วิตามินเอที่มากเกินไป: การได้รับวิตามินเอหรือเรตินอลมากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ ซึ่งจะมีมากในตับ
- มะละกอดิบ: หรือกึ่งสุกกึ่งดิบที่มักใช้ทำส้มตำ เนื่องจากอาจทำให้มดลูกบีบตัวและคลอดก่อนกำหนดจากเอนไซม์ที่มาจากยางมะละกอ
- เนื้อสัตว์ดิบและหอย: ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเลที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น หอยนางรม หอยตลับ และเนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อสัตว์ปีกที่ไม่สุก เพราะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากเชื้อ Toxoplasma และ Salmonella
- อาหารเนื้อตัดเย็น (Cold cut): อาหารเนื้อตัดเย็น หรือ Cold cut อาจมีเชื้อแบคทีเรีย Listeria ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถผ่านจากรกอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตต่อทารกในครรภ์ได้
- ไข่ดิบ: คุณแม่ควรระมัดระวังในการใส่มายองเนสในสลัด การทานไอศกรีมโฮมเมดหรือคัสตาร์ด ซึ่งมีส่วนผสมของไข่ดิบ ซึ่งเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อ Salmonella
คนท้องควรกินอะไรบ้าง
“แนะนำให้คุณแม่ทานอาหารสมดุลครบ 5 หมู่ ไม่งด หรือเน้นอาหารใดเป็นพิเศษ เสริมพลังงานในอาหารแต่ละมื้อให้มากขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ และไขมันดี ทานผัก ผลไม้ทุกวัน อาจจะเสริมเนื้อปลาที่มีไขม้นมาก เช่น แซลมอน หรือปลาดุก เพื่อเสริม dha ครับ แนะนำงด แอลกอฮอล์ อาหารดิบ และอาหารหมักดองครับ”
– นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์
- โปรตีน: คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับโปรตีนอย่างน้อย 75 กรัมต่อวัน ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่มักได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอในเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ แต่สำหรับคุณแม่ที่ทานมังสวิรัติอาจต้องเลือกรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนดีเพิ่ม เช่น ถั่ว เต้าหู้ เมล็ดทานตะวัน หรือ โยเกิร์ต
- โฟเลต: โฟเลตหรือกรดโฟลิค พบได้มากในผักใบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง อโวคาโด ถั่วต่างๆ โฟเลตเป็นหนึ่งในสารอาหารหลักที่สำคัญต่อการเพิ่มจำนวน DNA และลดความเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติของการเจริญเติบโตและการแท้งบุตร คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรได้รับโฟเลตอย่างเพียงพอโดยเฉพาะในช่วง 3 – 4 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
- น้ำ: น้ำเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ น้ำจะช่วยนำพาสารอาหารจากอาหารที่คุณแม่รับประทานไปสู่ลูก ป้องกันอาการท้องผูก ริดสีดวงทวาร อาการบวมน้ำของร่างกายและการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำให้ได้ประมาณ 10 แก้ว (ประมาณ 250 มิลลิลิตรต่อแก้ว) ต่อวัน
- ธาตุเหล็ก: ลูกน้อยต้องพึ่งพาสารอาหารจากคุณแม่เพื่อสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงของตัวเองเช่นกัน การขาดธาตุเหล็กในระหว่างการตั้งครรภ์ อาจจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด และมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจได้ ตัวอย่างอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ผักโขมสุก 1 ถ้วย ธัญพืช เนื้อแดง ถั่วต่างๆ
- แคลเซียม: ทารกจะดึงเอาแคลเซียมมาจากอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไป ซึ่งจะไปเสริมพัฒนาการ การเจริญเติบโตของหัวใจ หลอดเลือด โครงกระดูกและระบบประสาทของลูก คุณแม่จึงควรได้รับแคลเซียมเป็นปริมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ในนมไขมันต่ำ 220 กรัมจะให้ปริมาณแคลเซียมถึง 300 มิลลิกรัม
- วิตามินดี: วิตามินดีเป็นสารอาหารที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสเข้าไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวได้ดี ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินดีไม่น้อยกว่า 600 IU ต่อวัน วิตามินดีนั้นไม่ได้พบในผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ตามธรรมชาติมากมายนัก แต่ก็พบได้ในธัญพืช ไข่ น้ำผลไม้ นม และอาหารเสริมวิตามินดี
- โคลีน: โคลีนยังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบประสาทและสมองของลูก มีความสำคัญไม่แพ้กรดโฟลิค อีกทั้งยังช่วยปกป้องทารกในครรภ์จากความเครียดได้อีกด้วย โคลีนสามารถพบได้ในอาหารตามธรรมชาติ ได้แก่ ไข่ ปลาแซลมอน และกะหล่ำดอก ปริมาณโคลีนที่เพียงพอสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์คือ 450 มิลลิกรัมต่อวัน
- ดีเอชเอ: ดีเอชเอสามารถช่วยลดโอกาสในการคลอดก่อนกำหนด ลดความเสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ของทารก มีผลดีต่อการพัฒนาภูมิคุ้มกัน ดีเอชเอพบมากในสาหร่าย ไขมันปลา น้ำมันปลา เนื้อไก่และไข่แดง คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับดีเอชเอปริมาณ 300 มิลลิกรัมต่อวัน
- วิตามิน B6: วิตามิน บี6 เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นในการผลิตเซโรโตนิน (Serotonin) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญสำหรับการพัฒนาระบบประสาทและสมองของทารกในครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามิน บี6 ในปริมาณ 1.9 มิลลิกรัมต่อวัน คุณแม่สามารถได้รับวิตามิน บี6 จาก ข้าวสาลี ธัญพืชอื่นๆ เมล็ดพืชต่างๆ ถั่ว และผลไม้ เช่น กล้วย มะละกอ เนื้อปลา และเนื้อที่มีไขมันต่ำ
บทความและข้อมูลทั้งหมดของเราได้รับการรับรองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์
บทความที่เกี่ยวข้อง
- อาหารบำรุงสมองลูกที่คุณแม่ควรรับประทาน
- ทำอย่างไรให้หุ่นกลับมาเหมือนเดิมหลังคลอด
- ทำไมคนท้องถึงอยากอาหารมากกว่าปกติ
- ควบคุมน้ำตาลในไตรมาสที่ 3 เพื่อการคลอดที่ง่ายขึ้น
- สารอาหารที่จำเป็นในขณะตั้งครรภ์และการให้นมบุตร
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (24 พฤศจิกายน 2021)