ดาวน์โหลดแอป

วิธีเล่นกับลูกและวิธีเลือกของเล่นเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย

วิธีเล่นกับลูกและวิธีเลือกของเล่นเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย

สมองของทารกแรกเกิดจะเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็วมาก ซึ่งคุณแม่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการสมองตามช่วงวัยของลูกน้อยได้ด้วยการเล่นและการเลือกของเล่นที่จะช่วยเสริมพัฒนาการตามช่วงวัยของเขา

นอกจากนี้ การเล่นจะช่วยสร้างความผูกพันที่พิเศษระหว่างคุณแม่กับลูกน้อยอีกด้วย

ทำไมการเล่นจึงสำคัญ

ในช่วง 5 ปีแรก เป็นเรื่องจำเป็นที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการเล่นเป็นอันดับแรก ๆ โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น เพราะนอกจากช่วยเพิ่มการพัฒนาการทางสมองแล้ว การเล่นยังจะส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา สติปัญญา ทักษะทางอารมณ์ และสังคมได้ สำหรับเด็กเล็ก การเล่นสามารถทำได้ในทุกรูปแบบ

ของเล่นพัฒนาการ การเล่น
สำหรับเด็กเล็ก การเล่นสามารถทำได้ทุกรูปแบบ และคุณแม่อาจเป็นเพื่อนเล่นคนโปรดของลูก เคล็ดลับการเล่นกับลูกมีดังนี้:

  1. ให้ลูกเป็นผู้นำ: ให้ของเล่นหรือสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่ลูก และเฝ้าดูว่าลูกจะทำอย่างไรกับของเหล่านั้น ไม่สำคัญว่าเขาจะเล่นของชิ้นนั้นได้ถูกวิธีหรือไม่ คุณแม่อาจเรียนรู้วิธีใหม่และเล่นไปพร้อม ๆ กัน เด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้มากที่สุดจากการเล่นเมื่อพวกเขาเริ่มเล่น ดังนั้นอย่าลืมแบ่งเวลาและพื้นที่ให้กับลูกอย่างเพียงพอ ให้เขาเป็นผู้นำ ถ้าเราบอกเด็กว่าต้องเล่นอะไร หรือเล่นอย่างไร นั่นจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าน่าเบื่อ ลองลดการคำนึงถึงประโยชน์ของการเล่นเพื่อพัฒนาการ และไม่ต้องสอดแทรกทักษะใด ๆ การให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะการเป็นผู้นำนั้นสำคัญกว่า
  2. ค่อยเป็นค่อยไป: คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นให้เขาเรียนรู้วิธีการเล่นของเล่น คุณแม่อาจแค่แสดงขั้นตอนแรก ๆ ของการเล่น และให้คำแนะนำที่เพียงพอเพื่อป้องกันความสับสน จุดมุ่งหมายคือเพื่อกระตุ้นให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และพัฒนาความมั่นใจในการทำสิ่งนั้นด้วยตนเอง
  3. ส่งเสริมการสื่อสาร: ในขณะที่ลูกเล่นอยู่ คุณแม่ควรตอบสนองต่อเสียงหรือการเคลื่อนไหวของเขาตลอดเวลา เพื่อแสดงว่าคุณแม่สนใจในสิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่
  4. อ่านสัญญาณของลูก: เนื่องจากคุณแม่อาจไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่เขาพยายามจะบอกอยู่เสมอ ดังนั้นคุณแม่อาจลองอ่านท่าทางและการแสดงออกทางสีหน้าของเขา เพื่อให้รู้ว่าลูกกำลังต้องการอะไร
  5. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นที่ที่จะเล่นปลอดภัย: ไม่ว่าคุณแม่จะให้ลูกเล่นภายในบ้าน หรือที่สวนสาธารณะ ควรตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่ที่จะเล่นนั้นปลอดภัย เหมาะสำหรับเด็กและเหมาะสำหรับประเภทของเกมที่คุณแม่ต้องการจะเล่นกับเขา
  6. เล่นซ้ำแล้วซ้ำอีก: แม้ว่าการเล่นเกมเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อาจไม่สนุกสำหรับคุณแม่ แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้ว พวกเขาชอบการเล่นซ้ำ ๆ เพราะจะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้เกมได้ดีขึ้น และรู้สึกมั่นใจในการเล่นเกมนั้นมากขึ้น การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ จะทำให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจในตนเองเป็นอย่างมาก

ดาวน์โหลดแอพมะลิเพื่ออ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กและวิธีการกระตุ้นพัฒนาการเหล่านั้นอย่างเหมาะสมตามช่วงวัย

การเล่นและของเล่นเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย

การเล่นและของเล่นเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย
คุณแม่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของลูกน้อยในช่วงปฐมวัยได้โดยการสร้างประสบการณ์สำหรับพวกเขา เนื่องจากสมองของเด็ก ๆ จะพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อทุกสิ่งเร้าที่พบในช่วงขวบปีแรก ๆ ของชีวิต

การเล่นและของเล่นเสริมพัฒนาการช่วง 0 – 3 เดือน

 

ของเล่นเสริมพัฒนาการ ส่งยิ้มให้ลูก
1. ส่งยิ้มให้ลูก: ในช่วงนี้ลูกจะเริ่มมีการส่งยิ้มกลับ เพราะการยิ้มเพื่อสื่อสารจะเกิดในช่วงอายุประมาณ 2 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าลูกเริ่มเรียนรู้ที่จะหัดสังเกตรวมไปถึงเลียนแบบพฤติกรรมของคนทั่วไป อีกทั้งยังเริ่มเรียนรู้ที่จะสื่อสารเมื่อเกิดความพึงพอใจ รวมไปถึงการเรียกร้องความสนใจและสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
ยิ้มให้ลูกบ่อย ๆ และเรียกชื่อลูกด้วยเสียงสูงที่มีความขี้เล่น ให้ใบหน้าของลูกอยู่ใกล้ ๆ คุณแม่เมื่อยิ้ม เนื่องจากทารกน้อยในช่วงอายุนี้สามารถมองเห็นได้ดีที่สุดที่ระยะเพียง 20 เซนติเมตรเท่านั้น

ของเล่นเสริมพัฒนาการ สื่อสารและโต้ตอบด้วยเสียง
2. สื่อสารและโต้ตอบด้วยเสียงแบบต่าง ๆ : ประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด เด็ก ๆ เริ่มที่จะสามารถออกเสียงจากลำคอ เช่น เสียงอู, เสียงกลั้ว, รวมไปถึงเสียงสระอย่าง “โอ” “อือ” หรือ “อา” ได้ การริเริ่มที่จะสื่อสารด้วยคำพูดรวมไปถึงการได้ยิน “เสียงพูด” ของตัวเองเป็นเรื่องสำคัญต่อทารกน้อยมากและช่วยเสริมสร้างความมั่นใจของเขา ช่วงนี้ลูกน้อยเรียนรู้ที่จะสื่อสารในอีกรูปแบบหนึ่งนอกจากการร้องไห้แล้ว

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
อุ้มหรือสัมผัสตัวลูกเบา ๆ มองสบตา พูดคุยกับลูกน้อยด้วยน้ำเสียงที่สูงและตื่นเต้น และหยุดรอให้เขาส่งเสียงตอบ แสดงให้เห็นว่าคุณแม่กำลังฟังเขาอยู่โดยการยิ้มให้และสบตา เมื่อคุณได้ยินลูกออกเสียง ให้ทำเสียงเหมือนเขาและสื่อสารกลับไปหาลูกน้อยแล้วรอให้ลูกโต้ตอบกลับด้วยเสียงแบบอื่น การกระทำนี้จะช่วยให้เด็กเริ่มสนใจในการฟังและเรียนรู้วิธีต่าง ๆ ที่จะสื่อสารด้วยคำพูด

ของเล่นเสริมพัฒนาการ ยิ้มและโต้ตอบกับลูก
3. ยิ้มและโต้ตอบกับลูกด้วยท่าทางต่าง ๆ : เด็กบางคนสามารถบังคับกล้ามเนื้อตาและเริ่มที่จะมองตามคุณพ่อคุณแม่ได้แล้ว หากทารกมีอาการตาเขเมื่อคลอด อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อกล้ามเนื้อตาแข็งแรงขึ้น การเรียนรู้ด้วยการมองเห็นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับลูก โดยพัฒนาการนี้จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเขากับคุณพ่อคุณแม่ รวมไปถึงผู้ดูแลคนอื่น ๆ

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
ยิ้มให้ลูกมาก ๆ และโต้ตอบกับลูกน้อยที่ระยะห่างประมาณ 20-30 เซนติเมตร คุณสามารถให้ลูกเล่นกับของเล่นสีสันสดใสในขณะที่คุณอยู่ด้วย พยายามสบตาพูดคุย ส่งเสียง ยิ้ม หรือทำลักษณะต่าง ๆ เช่น ตาโต กะพริบตา เพื่อให้เขาสนใจ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการการมองเห็นของลูกน้อยโดยแขวนโมบายไว้เหนือเปล โมบายที่ดีที่สุดคือโมบายที่โต้ตอบและตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของเด็กได้

ของเล่นเสริมพัฒนาการ
โมบายที่โต้ตอบและตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของลูก

การเล่นและของเล่นเสริมพัฒนาการช่วง 3-6 เดือน

 

ของเล่นเสริมพัฒนาการช่วง 3-6 เดือน
1. เล่นของเล่นที่มีเสียงหรือเขย่าได้: ในตอนนี้ลูกจะเริ่มหันไปหาที่มาของเสียง เพราะทักษะการได้ยินรวมไปถึงกล้ามเนื้อคอของลูกดีมากพอที่จะสามารถหันไปหาที่มาของเสียงรอบ ๆ ตัวเขาได้แล้ว นี่เป็นก้าวสำคัญเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก ๆ เนื่องจากพฤติกรรมนี้จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเขามากขึ้น อีกทั้งช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้เกี่ยวกับการเข้าสังคม โดยลูกน้อยสามารถเข้าใจได้แล้วว่าเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ได้

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
ให้ลูกได้เรียนรู้เกี่ยวกับเสียงรูปแบบต่าง ๆ โดยให้ลูกน้อยอยู่ใกล้ ๆ เมื่อคุณแม่กำลังทำกิจวัตรประจำวันเช่น การทำความสะอาด คุณแม่ยังสามารถให้ทารกน้อยเล่นของเล่นแบบเขย่า ของเล่นที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊ง หรือเสียงดนตรี เช่น ลูกบอลยางบีบ หรือแขวนกระดิ่งลมที่มีเสียงเมื่อลมพัด นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อคอ โดยให้ลูกได้ฝึกนอนคว่ำบ่อย ๆ อีกด้วย

ของเล่นเสริมพัฒนาการ
ของเล่นแบบเขย่า, ของเล่นที่มีเสียงกรุ๊วกริ๊งหรือเสียงดนตรี, ลูกบอลยางบีบ, กระดิ่งลม

ของเล่นเสริมพัฒนาการ เล่นจ๊ะเอ๋
2. เริ่มเล่นจ๊ะเอ๋และพูดคุยโต้ตอบด้วยสีหน้าต่าง ๆ : ทารกเกิดมาพร้อมกับทักษะการจดจำใบหน้า ก่อนที่พวกเขาจะสามารถจดจำรูปทรงหรือสิ่งของได้เสียอีก และตอนนี้ลูกก็กำลังสนใจใบหน้าของบุคคลต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวเขา เป็นธรรมชาติที่ทารกน้อยจะให้ความสนใจเกี่ยวกับการโต้ตอบกับบุคคลต่าง ๆ และอยากเข้าสังคม หรือพบกับคนใหม่ ๆ การจ้องมองใบหน้าเป็นการสื่อสารแบบแรก ๆ ที่จะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้เกี่ยวกับสีหน้าและอารมณ์ต่าง ๆ ของมนุษย์ เขาจะสามารถจดจำใบหน้าได้ และเมื่อคุณแม่ปิดหน้า เขาก็จะพยายามหาใบหน้าและตอบสนองด้วยการยิ้มเมื่อหาเจอ ในข่วงนี้เขาจะเล่นจ๊ะเอ๋ได้ ซึ่งคุณแม่ก็จะสามารถเล่นสนุกไปพร้อม ๆ กับลูกโดยช่วยเหลือเรื่องพัฒนาการของเขาไปในเวลาเดียวกัน

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
เมื่อใดก็ตามที่ลูกมองคุณ ให้ใส่ใจมองลูกน้อยกลับ ยิ้มและพูดคุยกับเขา หรือเริ่มเล่นจ๊ะเอ๋กับเขาได้ 

ของเล่นเสริมพัฒนาการ พาลูกไปเดินเล่น
3. พาลูกไปเดินเล่นและกระตุ้นให้ดูสิ่งต่าง ๆ : ในช่วงนี้กล้ามเนื้อบริเวณดวงตาของลูกจะแข็งแรงมากพอที่จะใช้ตามองตามวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ พฤติกรรมนี้ถือว่าเป็นทักษะพื้นฐานที่มีความสำคัญมาก และลูกจะเริ่มใช้ตามองตามสิ่งต่าง ๆ ได้แล้ว

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
อีกหนึ่งทางที่จะสามารถสนับสนุนพัฒนาการนี้ของเด็ก ๆ ได้ คือการให้ของเล่นที่พวกเขาสามารถเอื้อมหยิบหรือจับต้องได้ในระหว่างที่ลูกน้อยกำลังฝึกนอนคว่ำอยู่ นอกจากนั้นแล้วคุณแม่ยังสามารถแขวนโมบายไว้ที่ระยะห่างประมาณ 20 – 30 เซนติเมตรจากตาของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถช่วยพัฒนาให้กล้ามเนื้อตาของลูกแข็งแรงขึ้น โดยการพาเขาไปเดินเล่น อุ้มลูกอย่างระมัดระวังและพาเขาดูสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ในตู้ รูปที่แขวนอยู่บนกำแพง หรือแม้แต่ต้นไม้ที่อยู่ข้างนอกบ้าน และกระตุ้นให้เขาสนใจและมองตาม

ของเล่นเสิรมพัฒนาการ
โมบาย, ของเล่นที่หยิบจับได้อย่างปลอดภัยในระหว่างฝึกนอนคว่ำ เช่น ตุ๊กตานิ่ม ๆ ที่มีสีสันสดใสขนาดพอดีมือ

ของเล่นเสริมพัฒนาการ กลิ้งลูกบอลและเขย่าของเล่น
4. กลิ้งลูกบอลและเขย่าของเล่น: เมื่อลูกเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้มือและตาได้พร้อม ๆ กัน เขาจะสามารถใช้สายตาไปพร้อม ๆ กับการเคลื่อนไหวของแขนและมือพร้อม ๆ กันได้ เช่นมองหาของเล่นและเอื้อมหยิบในเวลาเดียวกัน เด็ก ๆ ที่กำลังเรียนรู้การใช้ทักษะนี้ จะมองไปที่มือพร้อมมองหาสิ่งของที่อยู่ด้านหน้า และใช้การทำงานร่วมกันระหว่างมือกับตาเพื่อหยิบสิ่งของชิ้นนั้น ๆ ทักษะนี้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของระบบกล้ามเนื้อ ซึ่งเขาสามารถควบคุมความเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ลูกจะเริ่มหยิบสิ่งของขึ้นมาดูและเอาใส่ปากเพื่อเรียนรู้ โดยเป็นพฤติกรรมที่เห็นได้บ่อยในเด็กวัยนี้ เมื่อทักษะการทำงานร่วมกันระหว่างมือกับตาของลูกเริ่มพัฒนา เขาจะเริ่มส่งของจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง ซึ่งเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญที่ทารกอายุครบ 6 เดือนสามารถทำได้เป็นส่วนใหญ่

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
คุณสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้ โดยการกลิ้งลูกเทนนิสไปมาข้างหน้าลูกระหว่างที่เขากำลังฝึกนอนคว่ำ การให้เด็ก ๆ ได้เล่นกับสิ่งของที่มีรูปทรงกลมจะช่วยในการพัฒนาการเคลื่อนไหวของแขนและตา เขย่าของเล่นในระยะที่ลูกเอื้อมถึง หรืออาจใช้โมบายในระยะที่เขาเอื้อมถึง เพื่อให้ลูกสนใจคว้าหยิบ

ของเล่นเสิรมพัฒนาการ
ลูกเทนนิส, ของเล่นทรงกลม. ของเล่นเขย่า, โมบาย

ของเล่นเสริมพัฒนาการ จับ บีบ เขย่า
5. ชวนให้ลูกจับ บีบ และเขย่าสิ่งต่าง ๆ : ลูกสามารถถือสิ่งของต่าง ๆ และเขย่าของเล่นที่มีเสียงได้ เป็นอีกก้าวหนึ่งของพัฒนาการที่ทำให้ทารกใกล้เหมือนกับผู้ใหญ่มากยิ่งขึ้น ทารกจะเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเขาโดยใช้ความรู้สึกและการสัมผัส ทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อของลูกแข็งแรงมากพอที่จะให้ลูกสามารถเคลื่อนไหวอย่างสะเปะสะปะ ไปจนถึงเอื้อมหยิบของ เขย่าหรือถือของเล่นได้ การเล่นดนตรีหรือเขย่าของเล่นเป็นจังหวะ เป็นทักษะที่กำลังจะตามมาในอีกไม่ช้า 

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
ให้ลูกเล่นกับสิ่งของที่หลากหลายหรือยื่นนิ้วของคุณให้ลูกจับและบีบ คุณสามารถให้ลูกเล่นกับของเล่นแบบเขย่าโดยทำให้ลูกดูก่อน เด็ก ๆ เรียนรู้ได้เป็นอย่างดีโดยการเลียนแบบสิ่งที่คุณทำ

ของเล่นเสิรมพัฒนาการ
ของเล่นเขย่า, ลูกบอลยางบีบ, ของเล่นที่มีรูปทรงและผิวสัมผัสหลากหลาย

คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ฟีเจอร์บันทึกพัฒนาการของลูกตามช่วงวัยที่เหมาะสม โดยเปรียบเทียบกับอายุโดยเฉลี่ยของเด็กทั่วไปได้ฟรี ที่แอพมะลิ

การเล่นและของเล่นเสริมพัฒนาการช่วง 6-8 เดือน

ของเล่นเสริมพัฒนาการ เล่นกับกระจก
1. เล่นกับกระจก: ในช่วงนี้ลูกจะเริ่มให้ความสนใจและอยากเล่นกับ “คนแปลกหน้า” ในกระจก กระจกเป็นอุปกรณ์การเรียนรู้ที่สำคัญของทารก เนื่องจากพวกเขาจะชอบมองใบหน้าในระหว่างที่เขาอายุ 4 – 8 เดือน กระจกช่วยให้เด็ก ๆ เกิดความอยากรู้อยากเห็น อีกทั้งยังสอนพวกเขาเกี่ยวกับแสงและการสะท้อนกลับ โดยเป็นเครื่องมือชิ้นแรก ๆ ที่จะสอนลูกให้รู้จักตัวเอง โปรดทราบว่าการรู้จักตัวเองโดยแท้จริงรวมไปถึงความเข้าใจว่าคนแปลกหน้าที่อยู่ในกระจกนั้นคือตัวเองเป็นอีกทักษะหนึ่งที่จะตามมาเมื่อลูกอายุประมาณ 18 เดือน

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
ควรเลือกกระจกที่เหมาะสมให้ลูกเล่น กระจกที่เหมาะสมนั้นควรทำมาจากพลาสติกโดยไม่มีขอบมุมที่แหลมคมและมีการหุ้มขอบด้วยผ้า หากกระจกผลิตจากแก้ว ควรติดตั้งอย่างหนาแน่นและปลอดภัยบนกำแพง กระจกที่มีขนาดใหญ่สามารถช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้นโดยที่ลูกสามารถมองเห็นได้ทั้งตัวของเขาเองและคุณแม่ รวมไปถึงการได้เห็นตัวเองเมื่อเต้นและเคลื่อนไหว ส่วนกระจกขนาดเล็กมีข้อดีคือสามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย รวมไปถึงช่วยให้ลูกเรียนรู้ว่าสิ่งของอะไรอยู่ใกล้ ๆ เปลหรือหลังม่าน

ของเล่นเสิรมพัฒนาการ
กระจกพลาสติก, กระจกขนาดเล็กสำหรับเด็ก

ของเล่นเสริมพัฒนาการ ของเล่นที่มีรูปทรงและขนาดต่างกันไป
2. เล่นของเล่นที่มีรูปทรงและขนาดต่างกันไป: ลูกสามารถเข้าใจความแตกต่างระหว่างขนาดได้ว่าสิ่งของมีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ลูกเริ่มมองเห็นโลกของเขาผ่านสายตาที่ละเอียดมากขึ้น โดยเมื่อลูกอายุ 6 – 9 เดือน เขาจะสามารถเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างขนาดต่าง ๆ ได้ เช่น คุณพ่อคุณแม่ตัวใหญ่กว่าเขาและของเล่นแบบเขย่ามีขนาดเล็ก ลูกยังสามารถใช้หลักการนี้เพื่อบ่งบอกว่าสิ่งของอยู่ใกล้หรือห่างจากตัวของเขามากแค่ไหน คุณพ่อคุณแม่อาจให้ลูกฝึกหยิบสิ่งของต่าง ๆ ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เช่น ฝึกหยิบขนมชิ้นเล็ก ๆ ในเวลาอาหาร ของเล่นเล็ก ๆ ขนาดประมาณครึ่งนิ้ว รวมไปถึงดอกไม้ในสวน

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
หากคุณแม่ป้อนนมลูกจากขวด ลองใช้ขวดที่มีขนาดและรูปทรงที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละครั้ง ลูกจะสามารถเข้าใจถึงหลักการความแตกต่างระหว่างขนาดได้เร็วขึ้นเมื่อใช้วิธีนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถให้ลูกเล่นของเล่นที่มีขนาดและรูปทรงที่แตกต่างกันออกไป โดยอธิบายให้ลูกฟังว่าของเล่นชิ้นไหนมีขนาดใหญ่และชิ้นไหนมีขนาดเล็ก ขยับของเล่นเข้ามาใกล้ ๆ ลูกรวมไปถึงวางของเล่นให้ห่างจากลูกเพื่อที่จะช่วยให้เขามีพัฒนาการมองเห็นที่ดีมากยิ่งขึ้น

ของเล่นเสิรมพัฒนาการ
ของเล่นที่มีรูปทรง ขนาด และผิวสัมผัสหลากหลาย

ของเล่นเสริมพัฒนาการ ตบมือตามจังหวะ
3. ตบมือตามจังหวะ: หากลูกสามารถนั่งนิ่ง ๆ ได้แล้ว จะช่วยให้ลูกสามารถใช้มือในการเล่น ตบมือตามจังหวะเพลง และทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้อีกมากมาย การที่ลูกจะสามารถนั่งได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องให้ช่วยเหลือ ทักษะนี้ต้องใช้การควบคุมศีรษะและคอรวมไปถึงความแข็งแรงของลำตัวส่วนบน พัฒนาการลำดับนี้จะช่วยให้ลูกได้มองเห็นโลกใบน้อย ๆ ของเขาในมุมมองใหม่ รวมไปถึงยังช่วยให้กิจวัตรประจำวัน อย่างเช่น การทานอาหาร หรือเวลาอาบน้ำง่ายดายในการจัดการมากขึ้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่ด้วย

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกนั่งได้โดยให้ลูกนั่งพิงตัวของคุณพ่อหรือคุณแม่บนตัก ช่วยให้ลูกนั่งบนพื้นได้โดยใช้หมอนหนุนให้ลูกจนกว่าเขาจะสามารถนั่งด้วยตัวเองได้ อุปกรณ์อย่างเก้าอี้หัดนั่งสามารถช่วยเหลือให้ลูกนั่งตัวตรงได้แต่อาจส่งผลให้ลูกมีพัฒนาการที่ช้าลง

ของเล่นเสริมพัฒนาการ
ของเล่นที่มีเสียงเพลง

ของเล่นเสริมพัฒนาการ เล่นแปะมือ
4. เล่นแปะมือ: ทักษะทางกล้ามเนื้อของลูกพัฒนาขึ้นมากจนทำให้ลูกสามารถแปะมือกับคุณแม่ได้แล้ว เด็ก ๆ ต้องใช้ทักษะการทำงานร่วมกันระหว่างมือและตาเป็นอย่างมากเพื่อที่จะทำท่าทางนี้ โดยการแปะมือจะช่วยเสริมสร้างความผูกพันระหว่างเขาและคุณพ่อคุณแม่มากกว่าการชมลูกด้วยคำพูดเสียอีก เป็นอีกวิธีที่ดีซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะสามารถมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองความสำเร็จของลูกได้

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
มีพื้นที่เยอะ ๆ ให้ลูกได้คลาน ขยับตัว รวมไปถึงใช้แขนและมือ เมื่อลูกโตมากขึ้น คุณสามารถช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานร่วมกันระหว่างมือและตาของลูกได้ โดยชวนลูกร้องเพลงที่มีท่าทางประกอบของการใช้นิ้วและมือ เลือกเพลงที่สามารถทำท่าตามได้ง่าย ๆ เช่น แมงมุมลายตัวนั้น หรือ นิ้วโป้งอยู่ไหน นอกจากนี้ อาจเพิ่มการเล่นเกมที่มีคำสั่งง่าย ๆ เช่น โบกมือ ตบมือ หรือทำท่าตามคุณพ่อคุณแม่

การเล่นและของเล่นเสริมพัฒนาการช่วง 8-12 เดือน

ของเล่นเสริมพัฒนาการ เคาะของเล่น
1. เคาะของเล่น: ลูกกลายเป็นมือกลองผู้เชี่ยวชาญเมื่อลูกสามารถเคาะสิ่งของเข้าด้วยกันได้ ทักษะนี้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าลูกมีการทำงานร่วมกันระหว่างมือกับตาและพัฒนาการของทักษะทางกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ดี เด็ก ๆ ดูจะชื่นชอบการเคาะสิ่งของเข้าด้วยกันเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าการกระทำนี้จะดูเป็นพฤติกรรมที่ธรรมดาหรือแม้กระทั่งน่ารำคาญไปสักนิดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ทักษะนี้ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าลูกมีการทำงานร่วมกันระหว่างมือกับตาที่พัฒนามากกว่าเดิม อีกทั้งเขายังสามารถควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดีมากยิ่งขึ้น เสียงที่เกิดขึ้นจากการเคาะสิ่งของทำให้ลูกเกิดความสนใจ และทักษะพื้นฐานนี้ยังมีส่วนช่วยในด้านการเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือต่าง ๆ เมื่อลูกโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ชอบเสียงกระทบกันของเครื่องครัว สามารถให้ลูกเล่นกับของเล่นที่คล้ายเครื่องดนตรีหรือคล้ายอุปกรณ์ของช่างแทนได้ การได้เล่นกับของเล่นเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการลำดับนี้ได้มากขึ้น

ของเล่นเสริมพัฒนาการ
ของเล่นไม้, ของเล่นคล้ายเครื่องดนตรี

ของเล่นพัฒนาการ หยิบของเล่นเข้าออก
2. หยิบของเล่นเข้าออก: ลูกสามารถใช้นิ้วในการหยิบของและปล่อยของออกจากมือได้ด้วยตัวเอง หยิบของใส่และออกจากกล่อง หรือถ้วยเล็ก ๆ เมื่อเด็ก ๆ อายุ 12 เดือน คุณพ่อคุณแม่จะเห็นพัฒนาการทางด้านทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็กและทักษะการเรียนรู้ของลูกได้อย่างชัดเจนเมื่อลูกสามารถหยิบของใส่และออกจากกล่องได้

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
ให้ลูกได้ลองเล่นกับของเล่นแบบต่าง ๆ ที่สามารถใส่เข้าไปในกล่องได้ ของเล่นแบบจิ๊กซอว์รูปร่างต่าง ๆ ที่ออกแบบมาเพื่อให้ชิ้นบล็อกพอดีกับช่องว่างสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการนี้ได้เช่นกัน

ของเล่นเสริมพัฒนาการ
ของเล่นแบบจิ๊กซอว์รูปต่าง ๆ , ของเล่นบล็อกที่ต้องใส่หรือวางให้พอดีช่อง, ของเล่นที่สามารถหยิบเข้าออกจากกล่องได้

ของเล่นพัฒนาการ อ่านนิทานและร้องเพลง
3. อ่านนิทานและร้องเพลง: ถึงแม้ว่าตอนนี้ลูกจะยังไม่สามารถนับตัวเลขและเข้าใจความหมายของจำนวนได้ แต่ลูกก็เริ่มจะเข้าใจเกี่ยวกับคำศัพท์ที่บ่งบอกถึงปริมาณ เช่น ขอเพิ่ม กับ พอแล้ว หรือใหญ่ และเล็ก ลูกยังสามารถที่จะใช้ท่าทางและน้ำเสียงในการขอสิ่งต่าง ๆ จากคุณแม่ได้อีกด้วย

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
คุยกับลูกด้วยคำศัพท์ที่เกี่ยวกับปริมาณพร้อมกับใช้ท่าทาง ทำมือประกอบไปด้วย เช่น “ขวดใบใหญ่”, “มดตัวเล็ก” หรือ “มีข้าวเยอะมากในจาน” เมื่อคุณแม่ให้ลูกทานอาหาร เริ่มจากปริมาณที่น้อยก่อน หากลูกทานเสร็จแล้ว ให้ถามลูกว่าต้องการอาหารเพิ่มอีกไหม การกระทำนี้จะช่วยให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับปริมาณ เช่น “ขอเพิ่ม”, “น้อยกว่านี้” หรือ “นิดหน่อย” คุณแม่ยังสามารถส่งเสริมพัฒนาการลำดับนี้ได้โดยช่วยให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ต่าง ๆ มากขึ้นผ่านการอ่านนิทาน การร้องเพลง หรือการนับจำนวน

ของเล่นเสริมพัฒนาการ
หนังสือนิทาน, ของเล่นที่มีเสียงเพลง, ของเล่นที่ลูกหยิบจับง่ายหลาย ๆ ชิ้นเพื่อใช้สำหรับการนับจำนวน

การเล่นและของเล่นเสริมพัฒนาการช่วง 1-2 ปี

ของเล่นพัฒนาการ มาเต้นกันเถอะ
1. มาเต้นกันเถอะ: ลูกมีการควบคุมร่างกายที่ดีขึ้นมากจนทำให้ลูกสามารถเต้น หรือโยกตัวตามดนตรีได้เองอย่างเป็นธรรมชาติ การเต้นช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางกล้ามเนื้อของเด็ก รวมไปถึงฝึกทักษะการฟังและการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อ หากเขาเลียนแบบการเคลื่อนไหวของคุณแม่ การเต้นถือว่าเป็นกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำร่วมกับลูกได้อย่างสนุกสนานซึ่งช่วยสนับสนุนให้ลูกได้ออกกำลังกายอีกด้วย

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการลำดับนี้ได้ง่าย ๆ โดยให้ลูกเต้นตามเสียงเพลงและขยับเขยื้อนตามใจชอบ คุณพ่อคุณแม่สามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ได้โดยเลือกเพลงที่ทุกคนในครอบครัวสามารถเต้นตามได้ง่าย ๆ ด้วยกัน เช่น เพลง เบบี้ ชาร์ค เด็กบางคนยังชอบจังหวะของเพลงแบบฮิปฮอป ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ หรือเพลงวอลทซ์อีกด้วย

ของเล่นเสริมพัฒนาการ
ของเล่นที่มีเสียงเพลงที่เขาสามารถกดเล่นเองได้

ของเล่นพัฒนาการ เล่นสมมติกับลูก
2. เล่นสมมติกับลูก: ลูกสามารถเล่นสมมุติและจินตนาการว่าสิ่งของต่าง ๆ มีชีวิตได้ ทำให้นักแสดงตัวน้อย ๆ ของคุณพ่อคุณแม่ง่วนอยู่กับการรับบทบาทที่หลากหลายตั้งแต่การเป็นเชฟในครัวหรือเป็นคุณพ่อคุณแม่ของตุ๊กตาทารกน้อย เมื่อเด็ก ๆ อายุ 18 เดือน พวกเขาจะเริ่มเลียนแบบสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน และเล่นสมมุติในบทบาทง่าย ๆ หรือเล่นใช้สิ่งของตามหน้าที่ได้ เช่น ป้อนข้าวตุ๊กตา พัฒนาการที่สำคัญลำดับนี้ช่วยให้ลูกได้ฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหา ใช้ความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงพัฒนาทักษะทางภาษา เด็ก ๆ ยังได้เรียนรู้ในแง่คิดเกี่ยวกับการให้ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เมื่อลูกได้อยู่ในบทบาทสมมุติที่ทำให้ลูกได้เอาใจเขามาใส่ใจเรา

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
คุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกสนุกสนานมากยิ่งขึ้นเมื่อได้เล่นบทบาทเล่นสมมุติกับลูก ให้ลูกได้เป็นผู้กำกับตัวน้อย ๆ และสร้างสรรค์สถานการณ์สนุก ๆ ที่ทั้งคุณพ่อคุณแม่และเขาสามารถแสดงร่วมกันได้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถใส่ของเล่นต่าง ๆ ที่คล้ายกับสิ่งของในชีวิตจริงไว้ในกล่องพิเศษเพื่อให้ลูกได้ใช้เล่นสมมุติกับของที่เขาคุ้นเคย หรือเคยเห็นคุณพ่อคุณแม่ใช้ เช่น เครื่องครัวหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมไปถึงตุ๊กตาทารกน้อยและหุ่นเชิด เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถช่วยลูกจัดฉากเพื่อให้ไอเดียในการเล่นสมมุติแก่ลูกได้อีกด้วย เมื่อลูกเริ่มใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเพิ่มสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันให้ลูกได้ลองเล่นดู การกระทำแบบนี้จะช่วงส่งเสริมทักษะความคิดสร้างสรรค์ให้กับลูก เช่น ลูกอาจใช้ผ้าห่มในการเล่นเป็นซูเปอร์ฮีโร่ หรือสมมุติให้ขวดน้ำกลายเป็นจรวด

ของเล่นเสริมพัฒนาการ
ตุ๊กตาทารกน้อย, หุ่นของเล่น, ของเล่นที่คล้ายกับสิ่งของในชีวิตจริง เช่น เครื่องใช้ในครัว, อุปกรณ์การแพทย์, เครื่องมือช่าง

ของเล่นพัฒนาการ ต่อบล็อกไม้
3. ต่อบล็อกไม้: ในช่วงนี้ลูกอาจสามารถต่อบล็อกไม้ของเล่นได้ 4 ชั้นขึ้นไป ถึงแม้ว่าบล็อกไม้จะเป็นของเล่นที่ดูธรรมดาไม่หวือหวา แต่การต่อบล็อกไม้ก็เป็นการเล่นที่สนุกสนานและให้ประโยชน์แก่พัฒนาการของลูก โดยช่วยสอนลูกเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คณิตศาสตร์เบื้องต้น และตรรกะของเหตุและผล เมื่อเด็ก ๆ อายุ 2 ขวบ พวกเขามักสามารถที่จะต่อบล็อกไม้ของเล่นได้ 4 ชั้นโดยเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกมีการพัฒนาทักษะทางกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ดี

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
เมื่อลูกเล่นกับบล็อกไม้ ลองจับที่ข้อมือของเขา ช่วยให้วางบล็อกซ้อนสูงขึ้น และอธิบายให้เขาวางเบา ๆ หลังจากนั้นให้ลูกได้ถล่มสิ่งก่อสร้างของเขาลงด้วย เพราะการกระทำแบบนี้สอนให้ลูกได้เรียนรู้เกี่ยวกับตรรกะของเหตุและผล บล็อกไม้ของเล่นที่มีสีสัน ตัวเลข หรือตัวอักษรต่าง ๆ ยังสามารถส่งเสริมพัฒนาการลำดับนี้สำหรับลูก โดยช่วยสอนลูกให้เรียงลำดับและจับคู่สิ่งต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น

ของเล่นเสริมพัฒนาการ
บล็อกไม้ของเล่นที่มีรูปทรงและสีสันต่างกันไป

ของเล่นพัฒนาการ โยนลูกบอล
4. โยนลูกบอล: เมื่อลูกมีความแข็งแรงและทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ดีจนลูกสามารถโยนลูกบอลได้ การได้เล่นกับลูกบอลนั้นจะเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานสำหรับลูกเป็นอย่างมาก เมื่อเขาอายุ 2 ขวบ เด็ก ๆ จะมีความแข็งแรงและทักษะการควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กรวมไปถึงการทำงานร่วมกันระหว่างมือกับตาที่ดีจนเขาสามารถโยนลูกบอลได้ ถึงแม้ว่าลูกอาจยังไม่ได้เป็นถึงนักกีฬาโอลิมปิก คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเริ่มให้ลูกเล่นกับลูกบอลได้ในทุก ๆ วัน

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
ให้ลูกได้ฝึกฝนทักษะนี้บ่อย ๆ นอกจากลูกบอลแล้ว ห่วงของเล่นหรือฟริสบี้(จานร่อน)ก็สามารถช่วยพัฒนาความแข็งแรงของนิ้วและมือของลูกรวมไปถึงฝึกฝนการทำงานที่ประสานกันของมือกับตาได้ด้วยเช่นกัน

ของเล่นเสริมพัฒนาการ
ลูกบอล, ห่วงของเล่น, ฟริสบี้(จานร่อน)

ของเล่นพัฒนาการ ร้องรำทำเพลง
5. ร้องรำทำเพลง: ลูกเริ่มฮัมเพลงและร้องเพลงที่มีท่วงทำนองง่าย ๆ ได้ เป็นทักษะที่นำความสุขมากมายมาสู่บ้านของคุณพ่อคุณแม่ ความสามารถทางดนตรีของเด็กเริ่มขึ้นในครรภ์ของคุณแม่ โดยทารกใช้วิธีการฟังเสียงของคุณแม่ รวมไปถึงจับจังหวะการเต้นของหัวใจคุณแม่ก่อนที่เขาจะลืมตาดูโลกเสียอีก เมื่อลูกมีอายุ 30 – 36 เดือนลูกก็จะสามารถร้องเพลงที่มีท่วงทำนองง่าย ๆ ได้ ถึงแม้ว่าเขาอาจจะยังไม่สามารถอ่านออกเสียงเนื้อร้องได้อย่างถูกต้อง ลูกก็สามารถสร้างโทนเสียงที่หลากหลาย รวมไปถึงร้องเพลงตามทำนองและจังหวะได้

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
ทำให้การร้องเพลงกลายเป็นกิจวัตรประจำวันสำหรับลูก คุณพ่อคุณแม่อาจร้องเพลงเมื่อเขาอาบน้ำหรือหลังทานอาหาร ยิ่งลูกได้ยินบุคคลอื่น ๆ ร้องเพลงบ่อยมากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งอยากร้องเพลงด้วยตัวเองมากขึ้นเท่านั้น การเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการของเด็กแบบเป็นกลุ่มหรือเข้าร่วมกิจกรรมร้องเพลงก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านดนตรีของลูก การได้ฟังเพลงและการได้เล่นของเล่นประเภทเครื่องดนตรี เช่น อูคูเลเล่หรือระนาด ก็สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการนี้ได้เช่นกัน

ของเล่นเสริมพัฒนาการ
ของเล่นที่มีเสียงเพลงหรือเสียงดนตรี, ของเล่นประเภทเครื่องดนตรี เช่น อูคูเลเล่หรือระนาด

ของเล่นพัฒนาการ อ่านนิทาน
6. อ่านนิทาน: ในช่วงนี้ลูกจะสามารถเข้าใจเรื่องราวในหนังสือนิทานพร้อมทั้งชี้ไปที่ภาพประกอบได้ เมื่อลูกสามารถเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในนิทาน ทำให้เวลาการอ่านหนังสือมีความสนุกสนานมากขึ้นกว่าเดิม เด็ก ๆ บางคนอาจสามารถตอบคุณพ่อคุณแม่ได้เมื่อถามคำถามง่าย ๆ จากหนังสือ เช่น ‘แมวอยู่ไหน?’ หรือ ‘น้ำทะเลสีอะไร?’

วิธีส่งเสริมพัฒนาการ
คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาการลำดับนี้ได้โดยอ่านหนังสือกับลูกเป็นกิจวัตร ทำให้เวลาการอ่านนิทานสนุกสนานสำหรับลูกโดยสร้างบรรยากาศที่ชวนให้เขาอยากใช้เวลาอ่านหนังสือ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถทำให้การอ่านสนุกสนานมากขึ้นสำหรับลูกโดยการแสดงละครด้วยน้ำเสียงที่ใช้แทนตัวละครต่าง ๆ ในนิทาน

ของเล่นเสริมพัฒนาการ
หนังสือนิทานที่มีภาพประกอบสีสันสดใส หรือมีผิวสัมผัสหลาย ๆ แบบในเล่มเดียวกัน

การเล่นและของเล่นเสริมพัฒนาการช่วง 3-5 ปีเป็นต้นไป

เมื่อเด็กๆโตขึ้น พวกเขาจะมีรูปแบบและวิธีการเล่นที่เปลี่ยนไปตามแต่ละวัย

1. การเล่นแบบคู่ขนานมักจะเกิดขึ้นหลังจากอายุ 2 ขวบเป็นต้นไป ในช่วงนี้เด็กไม่เพียงแต่สังเกตว่าเด็กคนอื่น ๆ กำลังทำอะไร แต่ยังพยายามทำเช่นเดียวกันด้วย เด็ก ๆ สามารถเล่นเกมประเภทเดียวกันข้าง ๆ กันได้โดยไม่ต้องโต้ตอบซึ่งกันและกัน แต่จะคอยมองดูเพื่อนเป็นครั้งคราว

2. การเล่นร่วมกันมักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 3 – 4 ขวบ ช่วงนี้เด็ก ๆ เริ่มจะมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน แต่การเล่นยังไม่เป็นระเบียบ และไม่มีการตกลงเป้าหมายที่ชัดเจน การเล่นร่วมกันจะช่วยให้เด็ก ๆ เริ่มสร้างทักษะทางสังคม ตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ ทุกคนอาจเล่นอุปกรณ์สนามเด็กเล่นชิ้นเดียวกัน แต่ทุกคนทำสิ่งที่แตกต่างกัน เช่น ปีน โหน แกว่ง ฯลฯ

3. การเล่นแบบร่วมมือกัน หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การเล่นทางสังคม จะเกิดขึ้นประมาณอายุ 4 ขวบขึ้นไป เด็ก ๆ จะมีปฏิสัมพันธ์กับตัวเองอย่างอิสระ และสามารถจัดระเบียบการเล่นเกมได้ พวกเขาอาจตั้งเป้าหมายของกลุ่มและตั้งกฎสำหรับเกมของพวกเขาเอง

ขั้นตอนเหล่านี้เป็นแนวทางทั่วไปสำหรับสิ่งที่จะได้เห็นในทักษะการเล่นของลูก แต่อย่าลืมว่าเด็ก ๆ ทุกคนนั้นมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรคอยสังเกตุลำดับพัฒนการของลูกว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับช่วงอายุหรือไม่ หากทำได้ช้ากว่าเกณฑ์มาก ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โหลดแอพมะลิ เพื่อบันทึกและติดตามพัฒนาการตามเกณฑ์ที่เหมาะสม และรับข่าวสาร เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกที่น่าสนใจอีกมากมาย

บทความและข้อมูลทั้งหมดของเราได้รับการรับรองโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์

นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์

บทความที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน